เหงียน ฟุก กั๋ญ

เหงียน ฟุก กั๋ญ
พระยุพราชแห่งวังตะวันออก
ครองราชย์ค.ศ. 1793–1801
พระราชสมภพเหงียน ฟุก กั๋ญ
24 มีนาคม พ.ศ. 2323
ซาดิ่ญ จักรวรรดิด่ายนาม
ทิวงคต6 เมษายน พ.ศ. 2344 (21 ปี)
บิ่ญดิ่ญ จักรวรรดิด่ายนาม
พระชายาต๊ง ถิ เกวียน
พระราชบุตรเหงียน ฟุก หมี เดื่อง
เหงียน ฟุก หมี ถวี่
พระสมัญญานาม
มกุฎราชกุมารอัญเส่ว (Anh Duệ Hoàng thái tử, 英睿皇太子)
ราชวงศ์เหงียน
พระราชบิดาซา ล็อง
พระราชมารดาเถื่อ เทียน

เหงียน ฟุก กั๋ญ (เวียดนาม: Nguyễn Phúc Cảnh, จื๋อโนม: 阮福景; 24 มีนาคม ค.ศ. 1780 – 6 เมษายน ค.ศ. 1801) หรือพระนามลำลองว่า เจ้าชายกั๋ญ (Hoàng tử Cảnh, 皇子景) ต่อมาได้เป็นพระยุพราชเจ้าแห่งเวียดนาม มีพระนามาภิไธยว่า มกุฎราชกุมารอัญเส่ว (Anh Duệ thái tử, 英睿太子) เป็นพระราชโอรสในจักรพรรดิซา ล็อง หรือองเชียงสือ (Gia Long, 嘉隆) พระองค์ทรงเป็นเจ้านายที่มีชื่อเสียง เนื่องจากขณะมีพระชันษาได้ 7 ปี ได้เสด็จเยือนประเทศฝรั่งเศสกับปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอน (ฝรั่งเศส: Pierre Pigneau de Béhaine) หรือบ๊า ดา หลก (Bá Đa Lộc, 百多祿) บาทหลวงชาวฝรั่งเศส เพื่อลงพระนามาภิไธยในสนธิสัญญาการเป็นพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดนาม

แม้พระองค์จะมีพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารสืบราชสมบัติตามกฎมนเทียรบาล แต่พระองค์ก็ทิวงคตเสียในปี ค.ศ. 1801 จักรพรรดิซา ล็อง พระราชชนกทรงเลือกเหงียน ฟุก ด๋าม (Nguyễn Phúc Đảm, 阮福膽) พระราชโอรสลำดับที่สี่และเป็นพระอนุชาต่างพระชนนีของเหงียน ฟุก กั๋ญสืบราชบัลลังก์แทนเป็นจักรพรรดิมิญ หมั่ง (Minh Mạng, 明命) ซึ่งเป็นการตัดสิทธิ์การสืบราชบัลลังก์ของพระราชโอรสและพระราชนัดดาของเหงียน ฟุก กั๋ญโดยปริยาย

พระราชประวัติ

[แก้]

เหงียน ฟุก กั๋ญเป็นพระราชบุตรลำดับที่สองในจักรพรรดิซา ล็อง (หรือในพงศาวดารไทยเรียกว่าองเชียงสือ)[1] ประสูติแต่ต๊ง ฟุก ถิ ลาน (Tống Phúc Thị Lan, 宋福氏蘭) ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดินีเถื่อ เทียน (Thừa Thiên, 承天) พระมเหสีพระองค์แรก

บทบาทด้านการทูตกับฝรั่งเศส

[แก้]

ค.ศ. 1785 ขณะมีพระชันษาได้ 5 ปี พระองค์เสด็จไปประเทศฝรั่งเศสกับปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอน หรือบ๊า ดา หลก บาทหลวงคาทอลิกชาวฝรั่งเศส เพื่อลงพระนามาภิไธยในสนธิสัญญาแวร์ซายใน ค.ศ. 1788[2][3] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

"...องเชียงสือมีพวกพ้องเปนฝรั่งเศสอยู่คนหนึ่ง ไปว่ากล่าวขอให้ช่วย ขอกองทัพฝรั่งเศสมารบขบถ ผู้ที่เปนเพื่อนนั้นก็เปนคนสามัญ มิใช่ข้าราชการฝรั่งเศส องเชียงสือก็เปนคนสิ้นคิดระเหระหนอยู่ กลัวว่ารัฐบาลฝรั่งเศสไม่เชื่อถือเอาธุระ จึงได้มอบบุตรอันยังเด็กไปเปนจำนำคนหนึ่ง แต่ครั้นเมื่อสหายผู้นั้นพาบุตรองเชียงสือออกไปเมืองฝรั่งเศส เผอิญสบช่องกำลังเมืองฝรั่งเศสเปนจลาจล จึงพาไปพักอยู่เมืองฮอลแลนด์ องเชียงสือก็ทอดธุระว่าเปนอันไม่สำเร็จ จึงได้มุ่งหน้าจะพึ่งกรุงศรีอยุทธยา [คือกรุงรัตนโกสินทร์] ฝ่ายเดียว"[4]

การเสด็จในครั้งนั้นมีผู้ติดตามจากราชสำนักเวียดนามอันประกอบด้วยขุนนางสองคน พระญาติพระองค์หนึ่งซึ่งต่อมาได้เข้ารีตเป็นคริสตังและถูกเรียกอย่างลำลองว่าเจ้าชายปัสกาล (Prince Pascal) นอกจากนี้ยังมีทหารและข้าราชบริพารอีกจำนวนหนึ่ง[5] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1785 ได้มีงานเลี้ยงรับรองหลังเสด็จถึงเมืองพอนดิเชอร์รี (Pondicherry)[5] ต่อมาออกเดินทางจากพอนดิเชอร์รีไปยังฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1786[6] จนถึงประเทศฝรั่งเศสในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1787[7]

หลังเสด็จถึงได้ระยะหนึ่ง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสจึงทรงถวายการต้อนรับด้วยการงานเลี้ยงฉลองพระราชอาคันตุกะในวันที่ 5 หรือ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1787 ก่อนลงพระนามาภิไธยในสนธิสัญญาแวร์ซายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนปีเดียวกัน[8] การเสด็จมาของเจ้าชายกั๋ญนั้น สร้างความสนพระทัยในหมู่ราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถึงกับทรงจ้างให้เลออนาร์ โอตีเย (Léonard Autié) ช่างทำผมผู้มีชื่อเสียง ออกแบบทรงพระเกศาโดยตั้งชื่อว่า "แบบเจ้าชายแห่งโคชินจีน" (au prince de Cochinchine) เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าชายกั๋ญ[9] ทั้งมีการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์โดยโมเปแร็ง (Maupérin) ปัจจุบันถูกจัดแสดงที่คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส นอกจากนี้เจ้าชายกั๋ญยังทรงสร้างความฉงนงงงวยแก่ราชสำนักฝรั่งเศส เพราะพระองค์ได้เป็นพระสหายที่ทรงเล่นอยู่กับเจ้าชายหลุยส์ โฌแซ็ฟ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส พระราชโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16[10][11]

เจ้าชายกั๋ญทรงสนพระทัยในคริสต์ศาสนาเป็นอันมาก[12] ด้วยมีพระราชศรัทธาที่จะเข้าพิธีล้างบาปเป็นกำลัง[13] แต่บาทหลวงปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอนถวายคำแนะนำว่าไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะเกรงว่าอาจสร้างปฏิกิริยาเชิงลบจากราชสำนักเวียดนาม[14]

นิวัตเวียดนาม

[แก้]

เดือนธันวาคม ค.ศ. 1787 ได้มีงานเลี้ยงฉลองการเสด็จออกจากฝรั่งเศสบนเรือดรียาด (Dryade)[15] และกลับมาประทับที่พอนดิเชอร์รีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ 1788 จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1789[16] เมื่อพระองค์เสด็จถึงแผ่นดินเวียดนามแล้ว พระองค์ก็ปฏิเสธที่จะคุกพระชานุบำเพ็ญพระราชกุศลหน้าแท่นบูชาบรรพบุรุษ รวมทั้งทรงทาสีรูปไม้กางเขนลงบนพระพุทธรูป[17] พระองค์มักจะร่วมมิสซากับคริสตังอื่น ๆ เพียงแต่มิได้เข้าพิธีศีลล้างบาปเป็นกิจจะลักษณะอย่างที่ทรงปรารถนา[18]

พระรูปเจ้าชายกั๋ญที่มีบาทหลวงปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอนโอบกอดขณะลงพระนามาภิไธยในสนธิสัญญาแวร์ซายไซ่ง่อน

ในปี ค.ศ. 1793 พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "องค์ยุพราชเจ้าแห่งวังตะวันออก" (Đông Cung Hoàng Thái tử)[19] ในปี พ.ศ. 1794 ทุกครั้งที่พระองค์ตามเสด็จพระราชชนกพร้อมกับกองทหาร พระองค์จะพาบาทหลวงปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอนตามเสด็จเสมอ[20] พระองค์และบาทหลวงปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอนเคยถูกฝ่ายเต็ยเซิน (Tây Sơn) ปิดล้อมที่ป้อมเมืองเซียนคั้ญ (Diên Khánh) ในปีเดียวกันนั้น[20]

กระทั่ง ค.ศ. 1799 บาทหลวงปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอนมรณภาพขณะทำการล้อมโจมตีที่เมืองกวีเญิน (Qui Nhơn) เหงียน ฟุก กั๋ญทรงกล่าวถึงอดีตพระอาจารย์นี้ว่า[21]

"โอ้อนิจจา ! เรามีความสนิทสนมกันมาหลายปี และคบค้ามาด้วยกันท่ามกลางสงครามและปัญหานานัปการ [...] ท่านได้อุทิศตนในการพัฒนาอันนัมให้รุ่งเรือง และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ที่วางแผนการรบอย่างสมบูรณ์แบบทำให้ศัตรูปราชัย แม้นประเพณีของเราท่านจะต่างกันแต่ใจเรานั้นไซร้คงอยู่ในมิตรภาพอันคงทนถาวร"

เหงียน ฟุก กั๋ญอภิเษกสมรสกับต๊ง ถิ เกวียน (Tống Thị Quyên, 宋氏涓) มีพระราชบุตรสองพระองค์คือเหงียน ฟุก หมี เดื่อง (Nguyễn Phúc Mỹ Đường, 阮福美堂) หรือเหงียน ฟุก ด๊าน (Nguyễn Phúc Đán, 阮福旦) และเหงียน ฟุก หมี ถวี่ (Nguyễn Phúc Mỹ Thùy, 阮福美垂)

ในปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงเข้าพิธีล้างบาปอย่างลับ ๆ ดังปรากฏในประชุมพงศาวดารเวียดนาม ความว่า[22]

"ช่วงที่พระองค์อยู่กับบาทหลวงเวโร [ปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอน] พระองค์เป็นผู้ประเสริฐและเคร่งครัดในพระศาสนา แต่หลังบาทหลวงเวโรมรณภาพไปแล้ว พระองค์ก็เปลี่ยนเป็นคนละคน ทรงเสพกามกับนารีเพศและเสวยน้ำจัณฑ์ พระองค์ห่างเหินจากพระศาสนาไปโดยสิ้นเชิง ครั้นเมื่อใกล้ถึงกาลแห่งทิวงคตแล้วก็ทรงรำลึกถึงพระเยซู ด้วยทรงละอายต่อบาปยิ่งนักจึงมีพระราชบัณฑูรให้ขุนนางชั้นผู้น้อยเข้ามาประกอบพิธีล้างบาปอย่างลับ ๆ"

เหงียน ฟุก กั๋ญทิวงคตในปี ค.ศ. 1801 ด้วยฝีดาษ[23] ส่วนหมอสอนศาสนาอ้างว่าพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ[24] หลังทิวงคต จักรพรรดิซา ล็อง พระราชชนกทรงเลือกเหงียน ฟุก ด๋าม พระราชโอรสลำดับที่สี่และเป็นพระอนุชาต่างพระชนนีของเหงียน ฟุก กั๋ญสืบราชบัลลังก์แทนเป็นจักรพรรดิมิญ หมั่งต่อไป[23] อันเป็นการตัดสิทธิ์การสืบราชบัลลังก์ของพระราชโอรสและพระราชนัดดาของเหงียน ฟุก กั๋ญโดยปริยาย

ผู้สืบสันดาน

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1824 เหงียน ฟุก หมี เดื่องพระราชโอรสถูกขุนนางที่ชื่อเล วัน เสวียต (Lê Văn Duyệt, 黎文悅) หรือพงศาวดารไทยเรียก องต๋ากุน[25] กล่าวหาว่าทรงร่วมประเวณีกับต๊ง ถิ เกวียนผู้เป็นพระชนนี ผลคือเหงียน ฟุก หมี เดื่องถูกขับออกจากราชสำนัก ส่วนต๊ง ถิ เกวียนถูกจำสนมและสิ้นพระชนม์ในคุก ต่อมาเหงียน ฟุก หมี เดื่องทรงกอบกู้ชื่อเสียงกลับคืนได้เมื่อปี ค.ศ. 1848 ในรัชกาลจักรพรรดิตึ ดึ๊ก (Tự Đức, 嗣德) ก่อนสิ้นพระชนม์ในปีถัดมา[26]

ช่วงปี ค.ศ. 1833-1835 เกิดกบฏเล วัน โคย (Cuộc nổi dậy Lê Văn Khôi) ที่มีแนวคิดสถาปนาผู้สืบสันดานของเหงียน ฟุก กั๋ญขึ้นสู่งราชบัลลังก์ ทั้งนี้กลุ่มกบฏดังกล่าวเกิดขึ้นจากมิชชันนารีคาทอลิก และกลุ่มคริสตังเวียดนามโดยได้รับการสนับสนุนจากเล วัน เสวียต[27]

ในปี ค.ศ. 1826 เล จุง (Lê Trung) พระโอรสองค์ใหญ่ของเหงียน ฟุก หมี เดื่อง ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่ง มาร์กีอึ๊งฮฺหว่าเหิ่ว (Marquis Ứng Hòa Hầu)[26] ส่วนพระโอรสคนโตของเล จุงคืออัญ ญู (Anh Nhu) เป็นหนึ่งในผู้ที่ฝรั่งเศสเลือกมาเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1884 และอีกครั้งเมื่อจักรพรรดิด่ง คั้ญ (Đồng Khánh, 同慶) สวรรคตในปี ค.ศ. 1889 นอกจากนี้พระโอรสพระองค์หนึ่งของอัญ ญู คือ เกื่อง เด๋ (Cường Để, 彊柢) เป็นที่รู้จักด้วยเป็นนักปฏิวัติเวียดนาม เคยทรงงานร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อปลดปล่อยเวียดนามจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และหากนับตามสิทธิของบุตรหัวปีพระองค์ก็จะเป็นรัชทายาทของราชวงศ์เหงียน[26]

อ้างอิง

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 168
  2. A History of Vietnam by Oscar Chapuis, p.175
  3. Dragon Ascending by Henry Kamm p.86
  4. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562, หน้า 142
  5. 5.0 5.1 Mantienne, p.84, p.200
  6. Mantienne, p.92
  7. Mantienne, p.93
  8. Mantienne, p.97
  9. Viet Nam by Nhung Tuyet Tran, Anthony Reid, p.293
  10. "พระองค์ [เจ้าชายกั๋ญ] สร้างความฉงนสนเท่ห์แก่ราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นัก เหงียน กั๋ญ [...] ทรงฉลองพระองค์สีแดงและทองเล่นอยู่กับโดแฟ็งผู้เป็นองค์รัชทายาท" (He dazzled the Louis XVI court at Versailles with Nguyen Canh, ... dressed in red and gold brocade, to play with the Dauphin, the heir apparent.) ใน The Asian Mystique: Dragon Ladies, Geisha Girls, and Our Fantasies by Sheridan Prasso, p.40
  11. "องค์โดแฟ็งทรงมีพระชันษาไล่เลี่ยกับเขา [เจ้าชายกั๋ญ] จึงทรงเล่นด้วยกัน" (The Dauphin, about his age, played with him.) ใน French Policy and Developments in Indochina - Page 27 by Thomas Edson Ennis
  12. "ถึงเขา [บาทหลวงปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอน] จะเปลี่ยนให้ [จักรพรรดิ] ซา ล็องเข้ารีตในคริสต์ศาสนามิได้ แต่เขาก็ประสบความสำเร็จในการที่ทำให้เจ้าชายกั๋ญให้เป็นคริสตังที่สนพระทัยในพระศาสนาอย่างยิ่งยวด พระองค์ถูกติเตียนอย่างรุนแรงหลังพระองค์ทรงบอกพระราชชนนีให้ปาพระบังคนหนักใส่หมู่พระพุทธรูป" (He had not converted Gia Long to Christianity, but had succeeded in making Prince Canh a Catholic zealot, universally condemned for having told his mother to throw feces on Buddhist images) ใน A History of Vietnam by Oscar Chapuis, p.179 [1]
  13. Mantienne, p.200
  14. Mantienne, p.122
  15. Mantienne, p.109-110
  16. Mantienne, p.110
  17. A Vietnamese Royal Exile in Japan by My-Van Tran, Tran My-Van, p.15 [2]
  18. A Vietnamese Royal Exile in Japan by My-Van Tran, Tran My-Van, p.15-16 [3]
  19. A Vietnamese Royal Exile in Japan by My-Van Tran, Tran My-Van
  20. 20.0 20.1 Mantienne, p.135
  21. Mantienne, p.222-223. คำต้นฉบับในภาษาฝรั่งเศสเขียนไว้ว่า: "Hélas! Nous étions liés depuis de nombreuses années, et continuellement nous vivions au milieu de la guerre et des troubles (...) Vous consacrant dès lors à redresser la fortune de l'Annam, vous élaborâtes en stratège consommé votre plan de défaite de l'énemi. Les usages de nos deux pays ont beau être différents, nos coeurs ne l'étaient pas, unis qu'ils étaient par la plus solide amitié."
  22. A Vietnamese Royal Exile in Japan by My-Van Tran, Tran My-Van, p.16 [4]
  23. 23.0 23.1 Viêt Nam Exposé By Gisèle Luce Bousquet, Pierre Brocheux, p.204
  24. "กล่าวกันว่าเจ้าชายกั๋ญทิวงคตด้วยพระโรคหัดขณะมีพระชนมายุ 21 พรรษา แต่พวกหมอสอนศาสนารายงานว่าพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ" (Prince Canh is said to have died from the measles at the age of twenty-one. However, French missionaries reported that he had been poisoned.) ใน Colonialism by Philip Wolny, p.45 [5]
  25. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 147
  26. 26.0 26.1 26.2 A Vietnamese Royal Exile in Japan by My-Van Tran, Tran My-Van My Duong p.22 [6]
  27. McLeod, p.30

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Mantienne, Frédéric 1999 Monseigneur Pigneau de Béhaine Eglises d'Asie, Série Histoire, ISSN 1275-6865 ISBN 2-914402-20-1
  • McLeod, Mark W. The Vietnamese response to French Intervention, 1862-1874 Greenwood Publishing Group, 1990 ISBN 0-275-93562-0

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]