เหตุผลวิบัติเพราะการคืนสภาพ[1] (อังกฤษ: regression fallacy, regressive fallacy) เป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัย ที่คิดว่าสภาพผิดปกติที่กลับคืนเป็นปกติ เป็นเพราะได้ทำสิ่งที่เป็นเหตุให้คืนสภาพ ไม่ได้พิจารณาว่าอาจเป็นการขึ้นๆ ลงๆ ตามธรรมชาติ นี่เป็นรูปแบบโดยเฉพาะอย่างหนึ่งของเหตุผลวิบัติแบบ post hoc ergo propter hoc (เพราะเกิดหลังเหตุการณ์นี้ เหตุการณ์นี้จึงเป็นเหตุ)
ค่าต่างๆ รวมทั้งคะแนนการเล่นกอล์ฟ หรือความปวดหลังเรื้อรัง ปกติจะขึ้นๆ ลงๆ เองตามธรรมชาติ และโดยทั่วไปจะกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ย (regress toward the mean) ความบกพร่องทางตรรกะอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อประสบค่าที่ผิดปกติ เช่น ได้คะแนนสูง แล้วคิดว่าค่านี้ก็จะดำเนินต่อไปเหมือนกับเป็นอะไรที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ย (ดู Representativeness heuristic) มนุษย์มีโอกาสจะทำการต่างๆ สูงเมื่อค่าที่แปรปรวนไปจากปกติอยู่ในจุดสูงสุดหรือต่ำสุด หลังจากที่ค่ากลับคืนสู่ปกติ ก็จะเชื่อว่าสิ่งที่ได้ทำเป็นเหตุให้เปลี่ยนแม้จริงๆ จะไม่ใช่เหตุ
เซอร์ฟราซิส กอลตัน ได้เริ่มใช้คำว่า regression ในงานศึกษาปี 1885 ชื่อว่า "Regression Toward Mediocrity in Hereditary Stature" (การกลับคืนสู่สภาพธรรมดาของความสูงทางกรรมพันธุ์) เขาได้แสดงว่าความสูงของลูกที่เกิดจากพ่อแม่ซึ่งสูงมากหรือเตี้ยมาก มักจะอยู่ใกล้ค่าเฉลี่ยของประชากรยิ่งกว่า จริงๆ แล้ว ในสถานการณ์ที่ค่าตัวแปรสองตัวไม่มีสหสัมพันธ์ที่สมบูรณ์ ค่าพิเศษที่พบในตัวแปรหนึ่งก็อาจจะไม่พบในอีกตัวแปรหนึ่ง สหสัมพันธ์ที่ไม่สมบูรณ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก (เพราะความสูงไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์เพียงอย่างเดียว) จึงหมายความว่า การแจกแจงความสูงของลูกๆ จะมีศูนย์กลางอยู่ที่ระหว่างความสูงเฉลี่ยของพ่อแม่ กับความสูงเฉลี่ยของประชากรทั้งหมด ดังนั้น แม้ความสูงของลูกคนเดียวยังอาจจะพิเศษยิ่งกว่าพ่อแม่ แต่ก็มีโอกาสน้อย
นักกีฬาอเมริกันบางพวกเชื่อว่า การได้ขึ้นปกนิตยสาร Sports Illustrated จะนำโชคร้ายมาให้ แต่นี่เป็นผลของการกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ย คือ นักกีฬาปกติจะได้ขึ้นปกก็ต่อเมื่อแข่งกีฬาได้ดีมาก ต่อจากนั้น ก็จะแข่งได้แย่ลงโดยกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ย การคิดว่าการขึ้นปกนำความโชคร้ายมาให้ จึงเป็นเหตุผลวิบัติเพราะการกลับคืนสภาพ[3]
ในนัยตรงกันข้าม การไม่พิจารณาคำอธิบายที่ดีก็อาจก่อผลลบ เช่น
หลังจากที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้บุกโจมตีหาดนอร์ม็องดีโดยเป็นการเปิดแนวรบหลักที่สอง เยอรมนีก็ควบคุมยุโรปได้น้อยลง จึงชัดเจนว่า การร่วมมือกันระหว่างสัมพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต ได้ทำให้เยอรมนีถอยทัพ
การประเมินที่ผิดพลาด: "เพราะการบุกตอบโต้ได้เกิดขึ้นหลังจากที่เยอรมนีได้รบชนะยึดพื้นที่ได้มากที่สุด การกลับคืนสู่ค่าปกติจึงอธิบายการถอยทัพเยอรมันจากพื้นที่ที่ยึดได้ คือเป็นการขึ้นๆ ลงๆ โดยสุ่ม ซึ่งจริงๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้โดยสหภาพโซเวียตไม่ต้องร่วมมือกับสัมพันธมิตร" แต่การวิเคราะห์ก็ไม่ถูกต้องในกรณีนี้ เพราะอำนาจทางการปกครองอาณาเขตไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์สุ่ม จึงทำให้คำอธิบายการกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ยใช้ไม่ได้โดยทั่วไป
การใช้คำอธิบายเรื่องการกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ยอย่างผิดๆ จึงอาจชี้เหตุการณ์ทั้งหมดให้เป็นเรื่องไร้เหตุไร้ผล คือ จะจัดเหตุการณ์ทุกอย่างให้เป็นเรื่องสุ่ม เพราะต้องเป็นเช่นนั้น จึงจะใช้คำอธิบายเรื่องการกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ยได้
๑. การถดถอย, การถอยกลับ, การกลับคืน, การถอยหลัง๒. การทุเลา [ มีความหมายเหมือนกับ abatement; subsidence ๒ ]๓. การเสื่อม [ มีความหมายเหมือนกับ degeneration; depravation; deterioration; retrogression ]๔. การฝ่อ [แพทยศาสตร์ ๖ ส.ค. ๒๕๔๔]