เอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา

เอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาคือความคุ้มกันทางกฎหมายที่สมาชิกสภานิติบัญญัติในบางประเทศพึงได้รับ โดยที่สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติจะได้รับความคุ้มครองจากการฟ้องร้องทางแพ่งหรืออาญาจากการกระทำหรือคำพูดที่เกิดขึ้นระหว่างการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เอกสิทธิ์ถือเป็นเรื่องปกติในประเทศที่ใช้รัฐสภาในระบบเวสต์มินสเตอร์

ความเป็นมา

[แก้]

ประเทศสหราชอาณาจักรอนุญาตให้สมาชิกสภาขุนนางและสภาสามัญชนพูดได้อย่างเสรีระหว่างการดำเนินการทั่วไปในสภา โดยไม่ต้องเกรงกลัวที่จะถูกดำเนินการทางกฎหมายในข้อหาหมิ่นประมาท หมิ่นศาล หรือละเมิดพระราชบัญญัติความลับทางราชการ[1][2] เอกสิทธิ์นี้ยังให้การคุ้มครองสมาชิกรัฐสภาไม่ให้โดนจับกุมในคดีแพ่งจากคำพูดหรือกระทำในฐานะสมาชิกสภาฯ ภายในอาณาบริเวณของพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ โดยมีเงื่อนไขว่าคำพูดหรือการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในรัฐสภา อาทิ การตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีในสภาสามัญชน เอกสิทธิ์นี้ทำให้สมาชิกสามารถตั้งคำถามหรือถกเถียงประเด็นที่อาจจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท แทรกแซงคดีที่กำลังถูกพิจารณาในศาล หรือสุ่มเสี่ยงต่อการเปิดเผยความลับทางราชการ

อย่างไรก็ตาม เอกสิทธิ์คุ้มครองนี้ไม่มีผลกับคดีอาญา และไม่คุ้มครองสภาที่ถูกถ่ายโอนอำนาจในสกอตแลนด์และเวลส์[3] เอกสิทธิ์ในการพูดอย่างเสรีนี้ยังส่งผลให้มีการตั้งกฎที่ห้ามไม่ให้สมาชิกสภาพูดคำบางคำออกมา หรือส่อความว่าสมาชิกอีกคนหนึ่งโกหก[4]

สิทธิ์และเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาถูกกำหนดโดยคณะกรรมมาธิการมาตรฐานและคณะกรรมาธิการเอกสิทธิ์ ถ้าสมาชิกรัฐสภาทำผิดกฎ สมาชิกผู้นั้นก็อาจจะถูกระงับสมาชิกภาพหรือถูกขับออกจากสภาได้ ความผิดที่เคยเกิดขึ้นได้แก่ การยื่นหลักฐานเท็จต่อคณะกรรมาธิการประจำสภา การรับสินบน เป็นต้น

สิทธิ์ที่คล้ายคลึงกันมีอยู่ในประเทศที่ใช้รัฐสภาระบบเวสต์มินสเตอร์เช่นประเทศแคนาดา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศไทย เป็นต้น ในประเทศสหรัฐอเมริกา เอกสิทธิ์นี้ถูกมอบให้โดยข้อความวรรคหนึ่งว่าด้วยการพูดและการอภิปรายในมาตราที่หนึ่งของรัฐธรรมนูญสหรัฐ และในสภานิติบัญญัติของหลาย ๆ รัฐในสหรัฐอเมริกาก็ได้ให้ความคุ้มครองที่คล้ายคลึงกัน

ในประเทศไทย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสมาชิกรัฐสภาได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยให้เอกสิทธิ์ในการอภิปราย ตั้งกระทู้ถาม ลงมติและลงคะแนน รวมถึงการดำเนินการทางรัฐสภาอื่น ๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้อง หรือถูกขัดขวางในการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชน[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Archived copy" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-04-23. สืบค้นเมื่อ 2011-05-10.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  2. "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-23. สืบค้นเมื่อ 2010-07-05.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  3. "Speaker's Statement". House of Commons Daily Debates. Hansard. 3 December 2008. สืบค้นเมื่อ 5 December 2008. I should also remind the House, as stated in chapter 7 of "Erskine May," that parliamentary privilege has never prevented the operation of the criminal law. [Interruption.] Order. The Joint Committee on Parliamentary Privilege in its authoritative report in 1999 said that the precincts of the House are not and should not be "a haven from the law".
  4. "How Parliament works". www.parliament.uk. สืบค้นเมื่อ 2011-05-10.
  5. "เอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560". สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สืบค้นเมื่อ 2021-04-05.