ข้อมูลทางคลินิก | |
---|---|
ชื่ออื่น | S-217622 |
ตัวบ่งชี้ | |
| |
เลขทะเบียน CAS |
|
PubChem CID | |
UNII | |
ข้อมูลทางกายภาพและเคมี | |
สูตร | C22H17ClF3N9O2 |
มวลต่อโมล | 531.88 g·mol−1 |
แบบจำลอง 3D (JSmol) | |
| |
| |
เอนซิเทรลเวียร์ (Ensitrelvir,[1] ชื่อรหัส S-217622, ชื่อทางการค้า Xocova[2]) เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานที่พัฒนาโดยบริษัทชิโอโนงิ ร่วมกับมหาวิทยาลัยฮกไกโด ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 3C-like protease (3CLpro) สำหรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง[3][4] มีผลการทดสอบในการยับยั้งไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่งอุบัติขึ้น[5][6]
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 มีการยื่นคำขอใช้ระบบการอนุมัติเร่งรัดแบบมีเงื่อนไขในประเทศญี่ปุ่น ระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3[7] โดยคาดว่าจะยื่นขออนุมัติการใช้งานฉุกเฉินในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565[8][9] หากได้รับการอนุมัติเอนซิเทรลเวียร์จะเป็นยารักษาโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นชนิดแรกสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง[10] เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 คณะอนุกรรมการฝ่ายเภสัชกรรมสองชุดของสภาเภสัชกรรมและสุขาภิบาลอาหารประกาศว่าข้อมูลการยื่นขออนุมัติในขณะนั้นสำหรับเอนซิเทรลเวียร์ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสำหรับ "ประสิทธิภาพตามประมาณการ" ที่ระบบการอนุมัติในกรณีฉุกเฉินกำหนด ทำให้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้พิจารณาต่อไป และตัดสินผลการพิจารณาใหม่ตามผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ที่นำส่งโดยบริษัทชิโอโนงิ[9]
เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2565 บริษัทชิโอโนงิ ประกาศผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 โดยระบุว่าทั้งจุดสิ้นสุดการทดลองหลักและจุดสิ้นสุดที่สอง "ยืนยันว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ"[11][12] ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ผลการทดลองเบื้องต้นได้ถูกเสนอให้กับกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น และหน่วยงานเภสัชกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ (PMDA) และมีการเปิดเผยว่ามีการหารือกับทั้งสององค์กรเพื่อเริ่มดำเนินการทบทวนและพิจารณาการอนุมัติยาเอนซิเทรลเวียร์[12]
4 ตุลาคม พ.ศ. 2565 บริษัทชิโนโนงิประกาศว่าได้ทำสัญญาอนุญาตกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข "Medicines Patent Pool (MPP)" ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อให้ยาเอนซิเทรลเวียร์สามารถแพร่หลายในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง[13] การให้อนุสิทธิบัตรโดย MPP ในการผลิตและจัดหายาเอนซิเทรลเวียร์แก่บริษัทผู้ผลิตยาทั่วไปจะทำให้สามารถดำเนินการจัดหายาใน 117 ประเทศได้[13] บริษัทชิโอโนงิจะยกเว้นค่าสิทธิบัตรสำหรับการขายในประเทศที่อยู่ภายใต้สัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นประเทศที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังประกาศภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19[13]
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 คณะอนุกรรมการร่วมของคณะอนุกรรมการด้านเภสัชกรรมชุดที่หนึ่งและชุดที่สอง ของสภาเภสัชกรรมและสุขาภิบาลอาหาร ของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการได้ทำการอนุมัติฉุกเฉินการใช้งานเอนซิเทรลเวียร์[14][15] PMDA ปฏิเสธที่จะพูดว่า "จำเป็นต้องย้ำว่านี่คือข้อสรุป ณ เวลานี้" แต่สรุปว่า "เราได้รับข้อมูลมากพอที่จะสันนิษฐานว่ายามีผล"[14] เอนซิเทรลเวียร์กลายเป็นยารับประทานชนิดแรกสำหรับการรักษาโควิด-19 ที่สามารถให้กับผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่รุนแรง[14] สมาชิกของสภาเภสัชกรรมและสุขาภิบาลอาหารคนหนึ่งกล่าวว่าข้อกำหนดสำหรับการใช้ระบบการอนุมัติฉุกเฉินคือ "ต้องไม่มีวิธีการอื่นใดที่เหมาะสมนอกจากการใช้ยานี้" แต่มียารับประทาน "โมลนูพิราเวียร์ (Lagevrio)" และ "เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโตนาเวียร์ (Paxlovid)" สำหรับรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้รับการอนุมัติแล้ว[14][15] แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะมีการสำรองยาแพกซ์โลวิด 2 ล้านชุด แต่มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่ามีผู้ป่วยได้รับยาแพกซ์โลวิดเพียง 56,000 คนเท่านั้น[14][15] กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ แถลงว่าหากเอนซิเทรลเวียร์ได้รับการอนุมัติ จะเป็นยารับประทานชนิดแรกที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น และไม่มียารักษาโควิดชนิดอื่นที่ได้รับการอนุมัติแล้วที่มีเสถียรภาพในการผลิตและจัดหาที่สามารถคาดหวังได้เมื่อเปรียบเทียบกัน[14]
การทดลองระยะที่ 3 ดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางจำนวน 1,821 คน อายุระหว่าง 12 ถึง 70 ปี ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม[11] จุดสิ้นสุดหลักของการทดลองระยะที่ 3 คือ "เวลาในการหายจากอาการเฉพาะ 5 ประการที่มักพบในญี่ปุ่นระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในกลุ่มผู้ป่วยที่กำหนดภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ"[12] กลุ่มถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มที่รับประทานยาเอนซิเทรลเวียร์ วันละครั้งเป็นเวลา 5 วัน และกลุ่มที่รับประทานยาหลอก และมีการศึกษาผลของอาการที่ดีขึ้น[11] ผลที่ตามมาคือในกลุ่มที่รับประทานยาเอนซิเทรลเวียร์ อาการทั้ง 5 อย่าง ได้แก่ อาการไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล/คัดจมูก รู้สึกไม่สบายตัว และมีไข้/รู้สึกไข้ ลดลงประมาณ 24 ชั่วโมง (p=0.04)[11][16] เวลาเฉลี่ยในการหายจากอาการป่วยคือ 167.9 ชั่วโมงในกลุ่มที่ได้รับยาเอนซิเทรลเวียร์ และ 192.2 ชั่วโมงในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก[16] ผลในการต้านไวรัสที่มีนัยสำคัญยังแสดงให้เห็นในจุดสิ้นสุดการทดลองที่สองจาก "การเปลี่ยนแปลงในอาร์เอ็นเอของไวรัสจากการตรวจวัดในวันที่ 4 ของการได้รับยา (หลังจาก 3 โดส)" >1.4 log10 สำเนา/มิลลิลิตร (p<0.0001) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก[12][16]