บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ที่ตั้ง | 622 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร |
---|---|
พิกัด | 13°43′51″N 100°34′09″E / 13.730820°N 100.569110°E |
เปิดให้บริการ | 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 |
ผู้บริหารงาน | บริษัท ซิตี้มอลล์ กรุ๊ป จำกัด โดยกลุ่มเดอะมอลล์ และบริษัท ซิตี้ เรียลลิตี้ จำกัด |
พื้นที่ชั้นขายปลีก | 240,000 ตารางเมตร (2,600,000 ตารางฟุต) |
จำนวนชั้น | 8 ชั้น (ศูนย์การค้า) 43 ชั้น (อาคารสำนักงาน) |
ที่จอดรถ | 1,050 คัน (Parking A) 250 คัน (Parking B) |
ขนส่งมวลชน | พร้อมพงษ์ รถโดยสารประจำทาง สาย 511,501,25,508,2,2 เสริม,38 / 3-8,48 / 3-11,40,98,25 เอกชน,71 / 1-39 (TSB),2 / 3-1 (TSB) |
เว็บไซต์ | www |
เอ็มโพเรียม (อังกฤษ: Emporium) เป็นห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยเป็นอาคารหลักในกลุ่มดิ เอ็มดิสทริค เปิดให้บริการเมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง บริหารงานโดยบริษัท ซิตี้มอลล์ กรุ๊ป จำกัด ในกลุ่มเดอะมอลล์ ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท ติดกับสวนเบญจสิริ ในพื้นที่เขตคลองเตย นับเป็นห้างสรรพสินค้าในรูปแบบสแตนอโลนสาขาแรกและสาขาเดียวของกลุ่มเดอะมอลล์ จากเดิมที่เอ็มโพเรียมเป็นศูนย์การค้าที่เน้นความสำคัญกับตลาดลูกค้าชาวต่างชาติและลูกค้าระดับสูง
เอ็มโพเรียม เริ่มก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2537 โดยกลุ่มเดอะมอลล์ได้ซื้อที่ดินบริเวณปากซอยสุขุมวิท 24 เพื่อก่อสร้างห้างสรรพสินค้าหรูหราแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือกับกลุ่มตระกูลโสภณพนิช ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ ที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการอาคารระฟ้า 1 หลัง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นโรงแรมชาเทรียมและอีกส่วนหนึ่งเป็นสำนักงานให้เช่า ตัวอาคารทั้งหมดได้รับการออกแบบโดยกลุ่มสถาปนิก Jacqueline et Henri Boiffils โดยออกแบบถึงความคลาสสิกที่เต็มไปด้วยความหรูหรา ได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมหลังสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา แต่แล้วการก่อสร้างกลับล่าช้ากว่ากำหนดเนื่องจากประเทศไทยเริ่มประสบภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่จนก่อให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้นักลงทุนหลายแห่งตัดสินใจถอนทุนออกจากโครงการเกือบทั้งหมด ยกเว้นกลุ่มโสภณพนิช โครงการพัฒนาแล้วเสร็จในช่วงกลาง พ.ศ. 2540
ต่อมาใน พ.ศ. 2554 กลุ่มเดอะมอลล์ได้ตัดสินใจปรับปรุงโครงสร้างอาคารครั้งใหญ่ภายใต้แนวคิด "ที่สุดแห่งสุนทรียและแรงบันดาลใจ" โดยปรับสัดส่วนพื้นที่และการจัดสรรพื้นที่ใหม่ทั้งหมด ย้ายร้านค้าบางส่วนไปยังเอ็มควอเทียร์ เพิ่มพื้นที่ห้างสรรพสินค้าอีกร้อยละ 20 เพิ่มพื้นที่สำหรับร้านสินค้าหรูหรา ปรับโรงภาพยนตร์ขึ้นเป็นโรงภาพยนตร์สำหรับกลุ่มลูกค้าระดับสูง เพิ่มทางเชื่อมอาคารกับสถานีพร้อมพงษ์ และปรับทางเชื่อมเดิมให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น การปรับปรุงทั้งหมดนี้ทำให้เอ็มโพเรียมกลายเป็นศูนย์การค้าที่ตกแต่งในรูปแบบหอศิลป์แห่งแรกของประเทศไทย โดยการปรับปรุงแล้วเสร็จทั้งหมดใน พ.ศ. 2557 ก่อนเอ็มควอเทียร์จะเปิดให้บริการในปีถัดมา[1]
ใน พ.ศ. 2565 กลุ่มเดอะมอลล์ได้ดำเนินการปรับปรุงเอ็มโพเรียมครั้งใหญ่พร้อมกับเอ็มควอเทียร์ เพื่อรับการเปิดให้บริการของเอ็มสเฟียร์ โดยในครั้งนี้ กลุ่มเดอะมอลล์ ได้ตัดสินใจปิดพื้นที่เช่าเกือบทั้งหมด และให้ร้านค้าบางส่วนย้ายไปเปิดป็อปอัพสโตร์ชั่วคราวในเอ็มควอเทียร์ ก่อนเปิดร้านค้าถาวรในเอ็มสเฟียร์ และใช้พื้นที่อาคารทั้งหมดพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้าแยกเฉพาะเต็มรูปแบบด้วยพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ในขณะที่อีกร้อยละ 20 เป็นร้านค้าสินค้าหรูหรา และโรงภาพยนตร์ที่ยังเปิดให้บริการตามปกติ โดยการปรับปรุงครั้งนี้กำหนดแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2566[2][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]
เอ็มโพเรียม แบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือห้างสรรพสินค้า ความสูง 7 ชั้น มีพื้นที่สำคัญคือห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียม, สปอร์ตมอลล์ โดยมีอาดิดาสเป็นบูติกขนาดใหญ่ในพื้นที่, เพาเวอร์มอลล์ และเกมเซ็นเตอร์, บีเทรนด์, บิวตี้ฮอลล์, กูร์เม่ต์มาร์เก็ต และกูร์เม่ต์ ไวน์ เซลลาร์, กูร์เม่ต์อีตส์ ซึ่งทั้งหมดคิดเป็น 80% ของพื้นที่อาคาร ในขณะที่อีก 20% แบ่งเป็น ร้านค้าสินค้าหรูหรา และโรงภาพยนตร์เอ็มพรีเว่ ซีเนคลับ ในเครือเอสเอฟ ซีเนม่า ซึ่งปรับปรุงจากโรงภาพยนตร์ยูไนเต็ด อาร์ททิส[3] จำนวน 5 โรงภาพยนตร์
พื้นที่อีกส่วนหนึ่งของเอ็มโพเรียม เป็นอาคารเอนกประสงค์ เอ็มโพเรียม ทาวเวอร์ ความสูง 43 ชั้น ภายในประกอบไปด้วยสองส่วนย่อย ส่วนแรกคืออาคารสำนักงานเอ็มโพเรียม ซึ่งเป็นที่ตั้งของ บจก.ซิตี้ มอลล์ กรุ๊ป และ สำนักงานย่อยของ บจก. เดอะมอลล์ กรุ๊ป รวมถึงสำนักงานของบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง อีกส่วนหนึ่งคือโรงแรมเอ็มโพเรียมสวีท บาย ชาเทรียม จำนวน 376 ห้อง บริหารโดยกลุ่มโรงแรมชาเทรียม
โครงการเอ็มโพเรียม มีทางเชื่อมไปยังสถานีพร้อมพงษ์ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท รวมถึงทางเชื่อมไปยังเอ็มควอเทียร์และเอ็มสเฟียร์ ที่ชั้นเอ็ม และชั้น 1