เฮียเฮียะ | |
---|---|
เฮียเฮียะ (艾叶 หรือ 艾草) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Asterids |
อันดับ: | Asterales |
วงศ์: | Asteraceae |
สกุล: | Artemisia |
สปีชีส์: | A. argyi |
ชื่อทวินาม | |
Artemisia argyi H.Lév. & Vaniot |
เฮียเฮียะ หรือ เหี่ยเฮี๊ยะ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Artemisia argyi; จีนตัวย่อ: 艾叶; จีนตัวเต็ม: 艾葉; พินอิน: ài yè ไอ้เย่; แปลตามตัว ใบไอ้; จีนแต้จิ๋ว: hian7 hiêh8, /hĩã.hiεʔ/) เป็นชื่อในตำรับยาภาษาจีนที่ใช้ใบของพืชที่เรียก ไอ้เฉ่า (จีนตัวย่อ: 艾草; จีนตัวเต็ม: 艾葉; พินอิน: ài cǎo) หรือ โกฐจุฬาจีน[1] ภาษามลายูเรียกอูลัมมักวัน เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีอยู่ในสกุลโกฐจุฬาลัมพา และเป็นพืชท้องถิ่นในจีน ญี่ปุ่น และไซบีเรีย[2] มีกลิ่นหอมแรง ใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาตับ ม้าม และ ไต[3]และใช้กินเป็นอาหารจีนเจ้อเจียงที่เรียก ชิงถฺวาน (青团) และอาหารจีนแคะ เฉ่าอากุ้ย (草仔粿)[4]
เฮียเฮียะ (A. argyi) เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรงสีเทา สูงประมาณหนึ่งเมตรมีกิ่งสั้น และมีเหง้า
ก้านใบเป็นรูปไข่ ใบรูปหอกกว้าง หยักเว้าลึก ขอบใบจัก สีเทาเขียวและปกคลุมด้วยต่อมผลิตน้ำมันขนาดเล็ก ใบด้านบนมีขนนิ่ม ๆ อยู่ประปราย ด้านล่างสีเทาขาว มีขนหนาแน่นจำนวนมาก ใบความยาวประมาณ 6 เซนติเมตร เป็นใบประกอบสามส่วน ใบประดับเรียบง่ายเป็นรูปใบหอกยาว
ช่อดอกเป็นช่อใบแคบ ดอกไม้แต่ละดอกมีสีเหลืองซีด มีลักษณะเป็นทรงกระบอก และฐานดอกกระจุกเป็นครึ่งทรงกลม ดอกกลางเป็นกะเทย ส่วนดอกข้างดอกเป็นตัวเมีย กลีบดอกแคบและพับเป็นทรงกระบอก[2]
ทั้งต้นมีกลิ่นหอมแรง[5]
เฮียเฮียะเป็นพืชทนแล้ง (xerophile) ปรับตัวให้เจริญเติบโตในที่แห้งแล้ง ได้แก่บนเนินเขาที่แห้งแล้ง ริมฝั่งแม่น้ำสูงชัน ขอบของป่าโอ๊ค แนวชายฝั่ง ที่รกร้างว่างเปล่า ตามริมถนนและทางรถไฟ เจริญเติบโตได้ดีกว่าและมีกลิ่นหอมมากขึ้นเมื่อในพื้นที่แห้งแล้งและดินเลว[6]
ชาวจีนภาคใต้ (ตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี) ใช้ร่วมกับใบว่านน้ำแขวนประตูในช่วงเทศกาลเรือมังกรเพื่อปัดเป่าวิญญาณร้าย ส่งกลิ่นหอมระเรื่อ และสามารถใช้กินเป็นอาหารในเทศกาลเช็งเม้ง
เป็นอาหารพื้นเมืองทางตอนใต้ของจีน บริเวณมณฑลเจ้อเจียง เช่น ขนมนึ่งใส่เฮียเฮียะ ที่กินก่อนและหลังเทศกาลเช็งเม้ง โดยการบดนวดแป้งข้าวเหนียวไปพร้อมกับใบเฮียเฮียะสด อาจผสมด้วยถั่วลิสง งา น้ำตาล และไส้อื่นๆ (ในบางพื้นที่จะมีการใส่ถั่วเขียวเพิ่ม) แล้วนึ่ง เรียก ชิงถฺวาน และในอาหารจีนแคะก่อนนึ่ง ใช้ก้อนแป้งอัดลงแม่พิมพ์พร้อมใส้เป็นรูปต่าง ๆ เรียก เฉาอากุ้ย
ในลุ่มน้ำตงเจียงในกวางตุ้ง ชาวบ้านเก็บใบเฮียเฮียะสดและยอดอ่อนในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิเพื่อบริโภคเป็นผัก ในอาหารของชาวจีนแคะในเหมย์โจวใช้ใบแห้งหมัก และยัดลงในท้องไก่ ใส่ขิงหั่นบาง ๆ แล้วนึ่ง หรือต้มแกงไก่ รวมกับเนื้อลำไย และอื่นๆ
โดยการเก็บใบเฮียเฮียะ ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนเมื่อขณะออกดอก และตากในที่ร่ม
ในการแพทย์แผนจีน ถือว่ามีคุณสมบัติขม ฉุน และอุ่น และสัมพันธ์กัการบรักษาตับ ม้าม และ ไต[3]ใบใช้เป็นยาแก้ไอขับเสมหะ[7]ใช้เป็นยาห้ามเลือด บรรเทาปวด[8] ช่วยการเพิ่มปริมาณเลือดไปยังบริเวณอุ้งเชิงกรานและกระตุ้นการมีประจำเดือน ช่วยรักษาภาวะมีบุตรยาก ประจำเดือน โรคหอบหืด และไอ[9]
อาจใช้ในการรมยา (moxibustion) ซึ่งเป็นรูปแบบการรักษาด้วยการเผาสมุนไพรเฮียเฮียะ (โกศจุฬาลัมพา) ในรูปกรวยหรือแท่ง หรือเป็นลูกกลมอัดที่เสียบไว้กับปลายเข็มฝัง[9] เพื่อรมบริเวณจุดฝังเข็มตามตำแหน่งของเส้นลมปราณ
ใช้ในยาต้มแบบอย่างเดียว หรือกับสารอื่น ๆ
ใบสดสามารถบดและปั่นและคั้นน้ำผลไม้[9] ชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซียใช้ใบสดเคี้ยวแก้ไอ[10]
น้ำมันระเหยสามารถสกัดจากใบและใช้ในการรักษาโรคหอบหืดและหลอดลมอักเสบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฉีดพ่นลงบนหลังลำคอและช่วยบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็ว[11] ใบมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้าน Staphylococcus aureus, Bacillus dysenteriae, Bacillus subtilis, Bacillus typhi, Escherichia coli และ Pseudomonas[12]