เฮเลน โกลก

เฮเลน โกลก (อักษรโรมัน: Helen Gloag; 29 มกราคม ค.ศ. 1750– ค.ศ. 1790) เป็นหญิงสามัญชาวเพิร์ธเชอร์ในสกอตแลนด์ ที่ต่อมาได้เป็นจักรพรรดินีแห่งโมร็อกโก[1]

พระประวัติ

[แก้]

เฮเลน โกลก เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1750 ณ หมู่บ้านเวสเตอร์เพตต์ (Wester Pett) ทางใต้ของหมู่บ้านมูธิล (Muthill) ในเพิร์ธเชอร์[2][3] เป็นธิดาของแอนดรูว์ โกลก (Andrew Gloag) ช่างตีเหล็ก กับแอน เคย์ (Ann Kay) ภริยา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาสี่คน แต่หลังจากที่มารดาเสียชีวิตบิดาก็สมรสใหม่ ซึ่งเฮเลนที่ไม่ถูกกับแม่เลี้ยงจึงตัดสินใจออกจากบ้านขณะอายุเพียง 19 ปี เธอเดินทางจากกรีเน็ก (Greenock) ไปเซาท์แคโรไลนาหวังตั้งต้นชีวิต[4] แต่หลังจากที่เรือออกจากฝั่งเพียงสองสัปดาห์ก็ถูกโจรสลัดบาร์บารีปล้น[2][3]

หลังจากนั้นกลุ่มโจรสลัดได้สังหารลูกเรือที่เป็นชายทั้งหมด ส่วนลูกเรือหญิงถูกส่งไปขายเป็นทาสที่เมืองแอลเจียร์[3] เฮเลน โกลกถูกขายให้กับมหาเศรษฐีชาวโมร็อกโก ก่อนที่เศรษฐีดังกล่าวจะน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเฮเลนแก่สุลต่านมุฮัมมัด บินอับดุลลอฮ์แห่งโมร็อกโก[2] แม้จะเป็นเพียงนางทาสีแต่ด้วยพระสิริโฉมสวยงาม พระเกศาสีแดง และดวงเนตรสีเขียวเป็นที่ต้องพระทัย จึงทรงเก็บไว้สนองพระเดชพระคุณถวายงานในฮาเร็ม แต่ต่อมาองค์สุลต่านได้มีจิตปฏิพัทธ์สนิทสิเน่หา ทรงแต่งตั้งให้เฮเลนเป็นหนึ่งในจตุรชายา และสถาปนาขึ้นเป็นพระชายาเอก[5] มีตำแหน่งเป็นจักรพรรดินีในกาลต่อมา[2][3]

เฮเลนมีโอกาสติดต่อกับเครือญาติในมาตุภูมิโดยพระราชหัตถเลขาติดต่อกับพี่น้องคนหนึ่งที่ชื่อโรเบิร์ต ซึ่งเขาผู้นี้เคยมาโมร็อกโก และนำเรื่องราวของเฮเลนกลับไปเปิดเผยแพร่ที่สกอตแลนด์[2] กล่าวกันว่าเรื่องราวของพระองค์อาจมีส่วนในการที่ทำให้โจรสลัดโมร็อกโกลดจำนวนลง แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเพิ่มจำนวนเรือรบในน่านน้ำทั้งของอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีสถานการณ์ตรึงเครียดตั้งแต่ก่อนสงครามนโปเลียน[2]

หลังการเสด็จสวรรคตของสุลต่านมุฮัมมัด บินอับดุลลอฮ์ในปี ค.ศ. 1970 สุลต่านยาซีด พระราชโอรสที่ประสูติแต่ภริยาท่านอื่นในฮาเร็มได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ สุลต่านพระองค์ใหม่นี้ทรงมีส่วนร่วมในการลอบปลงพระชนม์พระราชโอรสสองพระองค์ของสุลต่านองค์ก่อนที่ประสูติแต่เฮเลน[2] และสันนิษฐานว่าเฮเลนอาจถูกลอบปลงพระชนม์ในช่วงสองปีต่อมาอันเป็นห้วงเวลาแห่งความระส่ำระสาย[2]

อ่านเพิ่มเติม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Lowson, Stephen (29 May 2009). "Day of history to unfold in Muthill museum". Strathearn Herald. สืบค้นเมื่อ 2009-06-23.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 "Helen Gloag: Undiscovered Scotland: The Ultimate Online Guide". Undiscovered Scotland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-21. สืบค้นเมื่อ 2009-06-23.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Bruce, Duncan A. (1998). The Mark of the Scots: Their Astonishing Contributions to History, Science, Democracy, Literature, and the Arts (illustrated, annotated ed.). Citadel Press. p. 182. ISBN 9780806520605.
  4. Warner, Gerald (30 July 2007). "Helen of Morocco; Beauty: Helen Gloag, above, married the Emperor of Morocco after she was captured by corsairs". Daily Mail. สืบค้นเมื่อ 2009-06-23.
  5. Gilchrist, Jim (20 February 2008). "Islam and us". The Scotsman. pp. paragraph 9. สืบค้นเมื่อ 2009-06-23.
  6. Taylor, Debbie (2004). The Fourth Queen (reprint ed.). Random House. ISBN 9781400053766.
  7. McKerracher, Archie (1988). Perthshire in history and legend. J. Donald. ISBN 9780859762236.
  8. Elizabeth Ewan, Sue Innes, Siân Reynolds, Rose Pipes (2006). The biographical dictionary of Scottish women. Edinburgh University Press.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  9. Maan, Bashir (2008). The Thistle and the Crescent (illustrated ed.). Argyll. ISBN 9781906134143.