แม่ชี

แม่ชีในกรุงเทพ

นางชี หรือ แม่ชี เป็นนักพรตหญิงในศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท นุ่งขาวห่มขาว โกนศีรษะ ถือศีลแปด อาศัยในวัดเช่นเดียวกับภิกษุ แต่มิได้อุปสมบท บางแห่งจึงถือว่าแม่ชีไม่ใช่นักบวช แต่เป็นอุบาสิกาในพุทธบริษัทสี่เท่านั้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการก่อตั้งสำนักชีโดยเฉพาะเพื่อจะได้ไม่ปะปนกับพระภิกษุซึ่งเป็นเพศชาย บางแห่งมีบทบาทจนเป็นที่ยอมรับในสังคม และบางสำนักนางชีสามารถออกบิณฑบาตได้เช่นเดียวกับพระสงฆ์[1]

นอกจากนี้ยังมีอุบาสิกาที่ถือศีลแปด เช่นกันแต่มิได้ปลงผม เรียกว่า ชีพราหมณ์[2]

ในประเทศพม่ามีนักบวชหญิงแบบหนึ่งเรียกว่า เมสิละ (Methila) เป็นนางชีโกนศีรษะ นุ่งขาวห่มขาว แต่สวมเสื้อชั้นใน มักอยู่รวมกันเป็นแห่ง ๆ และรับสอนหนังสือเด็ก ลักษณะใกล้เคียงกับแม่ชีของไทย[3]

ที่มาของชื่อ

[แก้]

แต่เดิมคำว่า "ชี" เป็นชื่อนักบวชประเภทหนึ่งที่นุ่งขาวห่มขาว เรียกว่า ชีปะขาว, ชีผ้าขาว หรือฤๅษีชีไพร แต่ปัจจุบันใช้เรียกสตรีที่ถือบวชโกนศีรษะและคิ้ว ที่นุ่งขาวห่มขาว[1]

มีความพยายามที่จะแปลคำว่า "ชี" ให้มีความหมายว่า "ผู้มีชัยชนะ" โดยว่ามาจากคำว่า "ชิ" หรือ "ชินะ" อันมีความหมายว่า "ผู้ชนะ"[1]

ประวัติ

[แก้]

แม่ชีเกิดขึ้นในไทยเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ปรากฏหลักฐานเก่าสุดคือจดหมายเหตุของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตของฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวไว้ว่า "ถึงแม้สยามจะมีนางชีคือสตรีที่ปฏิบัติตามพระวินัยสิกขาบท (ศีล) เป็นส่วนใหญ่ บางพวกไม่มีสำนักของตนต้องอาศัยในวัดของพระภิกษุนั้น ชาวสยามเชื่อว่าอายุขัยวัยล่วงชราเหล่านั้น (ด้วยปรากฏว่าไม่มีนางชีสาว ๆ เลย) นั้นแลเป็นเครื่องประกันเพียงพอของการสำรวมอินทรีย์อันบริสุทธิ์"[4]

และปรากฏอีกครั้งในจดหมายเหตุของเองเงิลแบร์ท เคมพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) แพทย์ชาวเยอรมันที่อยู่ช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ได้อธิบายไว้ว่า "สตรีชาวสยามรักเสรีภาพมากเกินไปกว่าที่จะยอมมอบตนให้อยู่ในสำนักนางชีของเรา นางจะไปบำเพ็ญเพียรก็ต่อเมื่อล่วงเข้าวัยชรา ที่เบื่อโลกียวิสัยแล้วเท่านั้น และน้อยรายที่จะลาออกจากสำนักมา ประการหนึ่งโดยที่นางต้องติดตามพระสงฆ์องค์เจ้าเสมอ จึงได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ในสตรีที่จะบวชเป็นชีก็ต่อเมื่ออายุล่วง 50 ปีไปแล้วเท่านั้น เพื่อป้องกันข้อครหา นางต้องโกนศีรษะ โกนคิ้ว เหมือนอย่างภิกษุ และนุ่งขาวห่มขาว สีขาวนั้นเป็นสีสุภาพของชนชาวสยาม ใช้ในโอกาสไว้ทุกข์และคราวมีพิธีงานสำคัญ พวกนางมิได้อยู่ในคณะอาราม นางจากครอบครัวมาอยู่รวมกันหมู่ละ 3-4 คนในที่ใกล้วัด ได้ถือกำหนดวินัยข้อปฏิบัติเอาตามภิกษุที่สวดมนต์ทำวัตรและเจริญภาวนานาน ๆ ในโบสถ์ หน้าที่ส่วนใหญ่ของนางคือปรนนิบัติพระสงฆ์ การจัดจังหันถวาย และช่วยเหลือในกิจการอื่น ๆ ด้วยการอวยทานอยู่เนืองนิจ"[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) (19 มีนาคม 2547). "ชี แม่ชี". กัลยาณมิตร. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช). "ชีพราหมณ์". กัลยาณมิตร. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "เรื่องเที่ยวเมืองพม่า ตอนที่ ๖ เที่ยวเมืองมัณฑเล ภาคปลาย". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 อารยา พยุงพงศ์. "แม่ชีไทยในทัศนะของข้าพเจ้า". มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]