แม่นากพระโขนง

แม่นากพระโขนง
กลุ่มสิ่งมีชีวิตในตำนาน
เทพารักษ์
เทพปกรณัมผีไทย
ชื่ออื่นแม่นาก, นางนาก
ประเทศประเทศไทย
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ถิ่นที่อยู่ย่านพระโขนง​, กรุงเทพมหานคร

แม่นากพระโขนง หรือมักเรียกสั้น ๆ ว่า แม่นาก (โดยมากสะกดด้วย ค.ควาย[1]) หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า นางนาก เป็นผีตายทั้งกลมที่เป็นที่รู้จักของไทย มีลักษณะผมยาว ห่มสไบ นุ่งโจงกระเบน ลักษณะที่เห็นเด่นชัดคือนางจะยืนอุ้มลูกอยู่ที่ท่าน้ำ

เชื่อกันว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีศาลแม่นาคตั้งอยู่ที่วัดมหาบุศย์ ซอยสุขุมวิท 77 (ถนนอ่อนนุช) เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

[แก้]

มีสามีภรรยาหนุ่มสาวคู่หนึ่ง อาศัยอยู่ด้วยกันที่ย่านพระโขนง สามีชื่อนายมาก ส่วนภรรยาชื่อนาค ทั้งสองใช้ชีวิตคู่ร่วมกันจนนางนากตั้งครรภ์อ่อน ๆ นายมากก็มีหมายเรียกให้ไปเป็นทหารประจำการที่บางกอก นางนากจึงต้องอยู่ตามลำพัง เวลาผ่านไป ท้องของนางนากก็ยิ่งโตขึ้นเรื่อย ๆ จนครบกำหนดคลอด หมอตำแยก็มาทำคลอดให้ ทว่าลูกของนางนากไม่ยอมกลับหัว จึงไม่สามารถคลอดออกมาตามธรรมชาติ ยังผลให้นางนากเจ็บปวดเป็นยิ่งนัก และในที่สุดนางนากก็ทนความเจ็บปวดไว้ไม่ไหว สิ้นใจไปพร้อมกับลูกในท้อง กลายเป็นผีตายทั้งกลม

หลังจากนั้น ศพของนางนากได้ถูกนำไปฝังไว้ยังป่าช้าท้ายวัดมหาบุศย์ ส่วนนายมากเมื่อปลดประจำการก็กลับจากบางกอกมายังพระโขนงโดยที่ยังไม่ทราบความว่าเมียของตัวได้หาชีวิตไม่แล้ว นายมากกลับมาถึงในเวลาเข้าไต้เข้าไฟพอดี จึงไม่ได้พบชาวบ้านเลย เนื่องจากบริเวณบ้านของนางนาก หลังจากที่นางนากตายไปก็ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้เพราะกลัวผีนางนากซึ่งต่างก็เชื่อกันว่าวิญญาณของผีตายทั้งกลมนั้นเฮี้ยน และมีความดุร้ายเป็นยิ่งนัก

ครั้นเมื่อนายมากกลับมาอยู่ที่บ้าน ผีนางนากก็คอยพยายามรั้งนายมากให้อยู่ที่บ้านตลอดเวลา ไม่ให้ออกไปพบใคร เพราะเกรงว่านายมากจะรู้ความจริงจากชาวบ้าน นายมากก็เชื่อเมีย เพราะรักเมีย ไม่ว่าใครที่มาพบเจอนายมากจะบอกนายมากอย่างไร นายมากก็ไม่เชื่อว่าเมียตัวเองตายไปแล้ว จนวันหนึ่งขณะที่นางนากตำน้ำพริกอยู่บนบ้าน นางนากทำมะนาวตกลงไปใต้ถุนบ้าน ด้วยความรีบร้อน นางจึงเอื้อมมือยาวลงมาจากร่องบนพื้นเรือนเพื่อเก็บมะนาวที่อยู่ใต้ถุนบ้าน นายมากขณะนั้น บังเอิญผ่านมาเห็นพอดี จึงปักใจเชื่ออย่างเต็มร้อย ว่าเมียตัวเองเป็นผีตามที่ชาวบ้านว่ากัน

นายมากวางแผนหลบหนีผีนางนาก โดยการแอบเจาะตุ่มใส่น้ำให้รั่วแล้วเอาดินอุดไว้ ตกกลางคืนทำทีเป็นไปปลดทุกข์เบา แล้วแกะดินที่อุดตุ่มไว้ให้น้ำไหลออกเหมือนคนปลดทุกข์เบา จากนั้นจึงแอบหนีไป นางนากเมื่อเห็นผิดสังเกตจึงออกมาดู ทำให้รู้ว่าตัวเองโดนหลอก จึงตามนายมากไปทันที นายมากเมื่อเห็นผีนางนากตามมาจึงหนีเข้าไปหลบอยู่ในดงหนาด นางนากไม่สามารถทำอะไรได้เพราะผีกลัวใบหนาด นายมากหนีไปพึ่งพระที่วัด นางนากไม่ลดละพยายาม ด้วยความที่เจ็บใจชาวบ้านที่คอยยุแยงตะแคงรั่วผัวตัวเองอีกประการหนึ่ง ทำให้นางนากออกอาละวาดหลอกหลอนชาวบ้านจนหวาดกลัวกันไปทั้งบาง ซึ่งความเฮี้ยนของนางนาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ถูกฝังไว้ระหว่างต้นตะเคียนคู่นั่นเอง ในที่สุด นางนากก็ถูกหมอผีฝีมือดีจับใส่หม้อถ่วงน้ำ จึงสงบไปได้พักใหญ่

จนกระทั่งตายายคู่หนึ่งที่ไม่รู้เรื่องเพิ่งย้ายมาอยู่ใหม่ เก็บหม้อที่ถ่วงนางนากได้ขณะทอดแหจับปลา นางนากจึงถูกปลดปล่อยออกมาอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สยบลงได้ กะโหลกศีรษะส่วนหน้าผากของนางนากถูกเคาะออกมาทำหัวปั้นเหน่ง เพื่อเป็นการสะกดวิญญาณ และนำนางนากสู่สุคติ หลังจากนั้น ปั้นเหน่งชิ้นนั้นก็ตกทอดไปยังเจ้าของอื่น ๆ อีกหลายมือ ตำนานรักของนางนาก นับเป็นตำนานรักอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจผู้ฟังอย่างไม่รู้จบ กับความรักที่มั่นคงของนางนากที่มีต่อสามี ที่แม้แต่ความตายก็มิอาจพรากหัวใจรักของนางไปได้[2]

ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์

[แก้]

เอนก นาวิกมูลผู้ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ไทยได้ค้นคว้าเอกสารร่วมสมัยเกี่ยวกับเรื่องแม่นากพระโขนงนี้ พบว่า จากหนังสือพิมพ์สยามประเภทฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2442 ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ น่าจะมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ของ อำแดงนาก ลูกสาวกำนันตำบลพระโขนงชื่อ ขุนศรี ที่ตายลงขณะยังตั้งท้อง และทางฝ่ายลูก ๆ ของอำแดงนากก็เกรงว่าบิดาของตน (สามีแม่นาก) จะไปแต่งงานมีภรรยาใหม่ และต้องถูกแบ่งทรัพย์สิน จึงรวมตัวกันแสร้งทำเป็นผีหลอกผู้คนที่ผ่านไปมาด้วยการขว้างหินใส่เรือผู้ที่สัญจรไปมาในเวลากลางคืนบ้าง หรือทำวิธีต่าง ๆ นานา เพื่อให้คนเชื่อว่าผีของมารดาตนเองเฮี้ยน และพบว่าสามีของอำแดงนากไม่ใช่ชื่อมาก แต่มีชื่อว่านายชุ่มทศกัณฐ์ (เพราะเป็นนักแสดงในบททศกัณฐ์[1]) และพบว่าคำว่าแม่นาก เขียนด้วยตัวสะกด ก ไก่ (ไม่ใช่ ค ควาย)[1] แต่การที่สามีแม่นากได้ชื่อเป็น มาก เกิดขึ้นครั้งแรกจากบทประพันธ์เรื่อง "อีนากพระโขนง" ซึ่งเป็นบทละครร้อง ในปี พ.ศ. 2454 โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์[1] และกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เคยทรงครอบครองกระดูกหน้าผากของแม่นากนี้ด้วยเช่นกัน โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำมาถวาย[3]

ความเชื่อของคนไทย

[แก้]
ศาลแม่นากพระโขนง ในวัดมหาบุศย์ ซอยสุขุมวิท 77 (ถนนอ่อนนุช) ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตสวนหลวง

เรื่องราวของแม่นากพระโขนงปรากฏอยู่ทั่วไปตามความเชื่อของคนไทยร่วมสมัยและตราบจนปัจจุบัน เช่น เชื่อว่าชื่อสี่แยกมหานาค ที่เขตดุสิตในปัจจุบัน มาจากการที่แม่นากอาละวาดขยายตัวให้ใหญ่ และล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ก็ยังเคยเสด็จทอดพระเนตรด้วย[2] หรือ เชื่อว่าพระรูปที่มาปราบแม่นากได้นั้นคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นต้น อีกทั้งยังเชื่อว่าท่านเป็นคนเจาะกะโหลกที่หน้าผากของแม่นากทำเป็นปั้นเหน่ง เพื่อสะกดวิญญาณแม่นาก และได้สร้างห้องเพื่อเก็บปั้นเหน่งชิ้นนี้ไว้ต่างหาก หรือหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ยังได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2468 ซึ่งเป็นสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก ท่านเคยเห็นเรือนของแม่นากด้วย เป็นเรือนลักษณะเหมือนเรือนไทยภาคกลางทั่วไปอยู่ติดริมคลองพระโขนง มีเสาเรือนสูง มีห้องครัวอยู่ด้านหลัง ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว [2] และยังเคยขึ้นไปบนศาลาการเปรียญของวัดมหาบุศย์ด้วย ในขณะนั้นศาลาการเปรียญหลังใหม่ บนฝ้าเพดานมีรอยเท้าเปื้อนโคลนคล้ายรอยเท้าคนเหยียบย่ำไปมาหลายรอย สมภารบอกว่าเป็นรอยเท้าของแม่นาก[4]

ถึงอย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องแม่นากพระโขนงยังคงปรากฏอยู่ในความเชื่อของคนไทย ณ วัดมหาบุศย์ ภายในซอยสุขุมวิท 77 (ถนนอ่อนนุช) เขตสวนหลวงในปัจจุบัน มีศาลแม่นากตั้งอยู่ ซึ่งเป็นที่สักการบูชาอย่างมากของบุคคลในและนอกพื้นที่ โดยบุคคลเหล่านี้จะเรียกแม่นากด้วยความเคารพว่า "ย่านาก" บ้างก็เชื่อว่าร่างของแม่นากถูกฝังอยู่ระหว่างต้นตะเคียนคู่ภายในศาล[5] โดยมีผู้มาบนบานขอในสิ่งที่ตนต้องการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องความรัก [5]

พีท ทองเจือนักแสดงชาวไทย อ้างตัวว่าสืบเชื้อสายจากแม่นาก[6] และมีความเชื่อว่าในปัจจุบันปั้นเหน่งที่ทำจากหน้าผากกะโหลกแม่นากถูกครอบครองโดยนักสะสมพระเครื่องผู้หนึ่ง[7]

การแสดงและบทประพันธ์

[แก้]

เรื่องราวของแม่นากพระโขนงได้กลายเป็นบทประพันธ์ในรูปแบบการแสดงเป็นครั้งแรก เป็นบทละครร้องในปี พ.ศ. 2454 ในชื่อ "อีนากพระโขนง" โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ แสดงที่โรงละครปรีดาลัย (โรงเรียนตะละภัฏศึกษาในปัจจุบัน) ได้รับความนิยมอย่างมากจนต้องเปิดการแสดงติดต่อกันถึง 24 คืน[8]

ในทางบันเทิง เรื่องราวของแม่นากพระโขนงได้ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ และภาพยนตร์หลายครั้ง โดยเรื่องราวของแม่นากพระโขนงได้นำมาสร้างภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2470 โดยหม่อมราชวงศ์อนุศักดิ์ หัสดินทร์ แต่พอสร้างแล้วฉายจนฟิล์มเปื่อย ฟิล์มก็หล่นหายสาบสูญไปอย่างน่าเสียดาย[9] อีกทั้งยังสร้างเป็นละครหรือภาพยนตร์ตลกล้อเลียนก็เคยมาแล้ว เช่น ละครเวทีโอเปร่าอำนวยการแสดงโดย สมเถา สุจริตกุล ในปี พ.ศ. 2545[10]

แม่นากพระโขนงในสื่อต่าง ๆ

[แก้]

ภาพยนตร์

[แก้]
"สยามประเถท", เอกสารจริงเรื่องเวลา และภายหลังแม่นาคพระโขนงมีชีวิตอยู่

ละครโทรทัศน์

[แก้]

ละครวิทยุ

[แก้]
  • นางนาคพระโขนง - โดย หม่อมหลวงเปลื้อง อิศรางกูร ณ อยุธยาและคุณครูละม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา
  • แม่นาคพระโขนง - โดย คณะเกศทิพย์ (จำนวน 20 ตอน)
  • วิญญาณรักของแม่นาค - โดย คณะแก้วฟ้า
  • แม่นาคพระโขนง - โดย คณะกันตนา
  • นางนาก - โดย คณะ ๒๑๓ การละคร
  • แม่นาคพระโขนง - โดย คณะรังสิมันต์
  • แม่นาคพระโขนง - โดย คณะเสนีย์ บุษปะเกศ
  • แม่นาค - โดย คณะมิตรมงคล
  • แม่นาคพระโขนง - โดย คณะผาสุกวัฒนารมย์
  • แม่นาคพระโขนง - โดย คณะนีลิกานนท์

ละครเวที

[แก้]

หนังสือ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 คนยาก, ลูกทุ่ง (2011-04-21). "บางอ้อ ปั้นเหน่งแม่นาค 01 (มีทั้งสิ้น 11 ตอน)". บางอ้อ.
  2. 2.0 2.1 2.2 ทองเล็ก, พลเอก นิพัทธ์ (2017-02-13). "ภาพเก่าเล่าตำนาน : แม้ความตายมิอาจพราก แม่นาคพระโขนง". มติชน.
  3. เจนจบ ยิ่งสุมล. (ตุลาคม 2553). ๑๓๐ ปี ไม่มีวันตาย พลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. สำนักพิมพ์ DK พับลิชิ่ง. ISBN 978-616-7327-07-5. หน้า 45
  4. ประลองเชิง, กิเลน (2010-10-04). "ปลุกผีแม่นาค". ไทยรัฐ.
  5. 5.0 5.1 "เด็ดข่าวแปลก - ตำนานรักแม่นาคพระโขนง". ช่อง 7. 2015-02-15.
  6. "'พีท'นับสาแหรก เชื่อทายาทแม่นาค". สนุกดอตคอม.
  7. "เทพ กำแพง กับ...ความเฮี้ยนของปั้นเหน่งแม่นาค". คมชัดลึก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-21. สืบค้นเมื่อ 2022-05-18.
  8. "ตำนาน "ปรีดาลัย"". นิตยสารผู้จัดการ.
  9. "ตอน เปิดตำนานแม่นากพระโขนง". คุณพระช่วย. 2011-02-12.
  10. "ย้อนรอยหนัง-ละคร'แม่นาค'จากตำนานถึงปัจจุบัน". คมชัดลึก. 2013-03-27.
  11. "แม่นาคทะลุมิติ" มาถ่ายทำ สถานที่จริง วัดมหาบุศย์ โดย กรุง ศรีวิไล มารับบทพระ เล่าเรื่องราวความเป็นมาของแม่นาค
  12. เตรียมฮาข้ามภพ หม่ำ-เท่ง-โหน่ง คัมแบ็ก บวงสรวงหนัง “นากรักมากม๊าก...มาก”

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]