แม่หอบ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีน ถึง ปัจจุบัน | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Arthropoda |
ไฟลัมย่อย: | Crustacea |
ชั้น: | Malacostraca |
อันดับ: | Decapoda |
อันดับฐาน: | Gebiidea |
วงศ์: | Thalassinidae Latreille, 1831 |
สกุล: | Thalassina Latreille, 1806 |
ชนิดต้นแบบ | |
Thalassina scorpionides Latreille, 1806 | |
ชนิด | |
แม่หอบ หรือ จอมหอบ[1] (อังกฤษ: Mud lobster, Mangrove lobster ) เป็นสัตว์น้ำประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกครัสเตเชียนชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสกุล Thalassina และวงศ์ Thalassinidae จัดเป็นสิ่งมีชีวิตโบราณหรือซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน โดยถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคไมโอซีนยาวนานถึง 16 ล้านปี[2]
มีรูปร่างคล้ายกุ้งผสมกับปูโดยขาคู่แรกขนาดใหญ่คล้ายก้ามปู นอกจากใช้เดินแล้วยังทำหน้าที่ขุดรูและขนดินออกมากองคล้ายจอมปลวก แต่มีขนาดเล็กกว่า หัวเหมือนกุ้งมีขนาดใหญ่ ลำตัวสีแดงเข้มเป็นปล้อง ๆ คล้ายกั้ง ท้องขนาดเล็กยาวเรียวไม่มีแพนหาง ลักษณะคล้ายแมงป่อง มีขนาดความยาวประมาณ 20–30 เซนติเมตร (7.9–12 นิ้ว)[3][4]
อาศัยโดยการขุดรูอยู่ตามพื้นป่าชายเลน โดยขนดินขึ้นมากองทับถมกันเป็นเนินสูง และอาศัยอยู่ด้านใต้กองดินนั้น สามารถอยู่บนบกได้เป็นเวลานานกว่าครัสตาเซียนจำพวกอื่น ๆ กินอาหารจำพวกอินทรีย์สารที่อยู่ในดินเลนในเวลากลางคืน ในประเทศไทยพบเฉพาะป่าชายเลนทางภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน[5] ในต่างประเทศพบได้ที่รัฐเกรละ ในอินเดีย, ศรีลังกาจรดถึงเวียดนาม, หมู่เกาะริวกิวของญี่ปุ่น จนถึงชายฝั่งทะเลของปาปัวนิวกินีและออสเตรเลียทางตอนเหนือและตะวันตก รวมถึงฟิจิและซามัว[4] พบได้รอบ ๆ พื้นที่เกษตรกรรม เช่น พื้นที่เพาะเลี้ยงปลาหรือกุ้ง โดยถือว่าเป็นสัตว์คุกคาม[3]
การที่ได้ชื่อในภาษาไทยว่า "แม่หอบ" เนื่องจากมีความเชื่อว่า เนื้อของแม่หอบสามารถรักษาอาการหอบหืดได้ จึงนิยมนำมาเผาไฟรับประทานกันในอดีต[4][6] สอดคล้องกับชื่อวิทยาศาสตร์ Thalassina ที่หมายถึง "การย้อนกลับทางเดินหายใจ" เพื่อให้เหงือกไม่มีสิ่งสกปรก[7]
สถานะปัจจุบันของแม่หอบ ถือได้ว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ประกอบกับเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างบอบบางตายง่าย[6] เช่น ในช่วงฤดูมรสุมน้ำทะเลอาจท่วมรูของแม่หอบ จนทำให้แม่หอบตายได้
ในอดีตเคยเชื่อว่า แม่หอบ มีเพียงชนิดเดียว คือ Thalassina anomala มาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันได้มีการศึกษาเพิ่มเติมในปี ค.ศ. 2009 โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านครัสเตเชียนชาวเวียดนาม เหงียน หง็อก-โฮ และมิเชลล์ เดอ แซงต์ ลอรองต์ ชาวฝรั่งเศส พบว่ามีแปดชนิดและพบซากดึกดำบรรพ์ โดยจัดให้วงศ์ Thalassinidae อยู่ในอันดับฐาน Gebiidea พร้อมกับวงศ์ Upogebiidae, Axianassidae และLaomediidae[8][9]
ประกอบไปด้วย:[8]
และซากดึกดำบรรพ์, Thalassina emerii พบที่ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย, ปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย[8]