โทกูงาวะ อากิตาเกะ | |
---|---|
ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ คนที่ 11 | |
ดำรงตำแหน่ง 1868–1871 | |
ก่อนหน้า | โทกูงาวะ โยชิอัตสึ |
ถัดไป | แคว้นศักดินาถูกยกเลิก |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 26 ตุลาคม ค.ศ. 1853 |
เสียชีวิต | 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1910 | (56 ปี)
โทกูงาวะ อากิตาเกะ (ญี่ปุ่น: 徳川 昭武; 26 ตุลาคม 1853 – 3 กรกฎาคม 1910) เป็นน้องชายต่างมารดาของโทกูงาวะ โยชิโนบุ (徳川 慶喜) โชกุนคนสุดท้ายของญี่ปุ่น และไดเมียวคนสุดท้ายของแคว้นศักดินามิโตะ เขาเป็นตัวแทนของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะในราชสำนักของมหาอำนาจในยุโรปหลายแห่งในช่วงท้ายของยุคบากูมัตสึ
โทกูงาวะ อากิตาเกะเกิดในชื่อ มัตสึไดระ โยฮาชิมาโระ (松平 余八麿) เป็นบุตรชายคนที่ 18 ของโทกูงาวะ นาริอากิ (徳川 斉昭) ไดเมียวแห่งแคว้นศักดินามิโตะคนที่ 9 ที่ที่พักรองของแคว้นศักดินามิโตะ ใน โคมาโงเมะ (駒込), เอโดะ ในปี 1853 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์การเดินทางของเพร์รี เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย เขาจึงย้ายไปอยู่ที่แคว้นศักดินามิโตะ เมื่ออายุได้ 6 เดือน และกลับมาที่เอโดะในปี 1863 ในปีเดียวกัน เขาถูกส่งไปเกียวโตในฐานะตัวแทนผู้นำของแคว้นมิโตะ เนื่องจากอาการป่วย (และเสียชีวิตในปี 1864) ของมัตสึไดระ อากิคูนิ พี่ชายร่วมมารดาของเขา เกียวโตอยู่ในสถานการณ์ที่วุ่นวายมากในช่วงเวลานั้น โดยกองกำลังที่สนับสนุนรัฐบาลโชกุนต่อสู้กับโรนินผู้สนับสนุน ซนโนโจอิ (尊王攘夷) และซามูไรจากแคว้นทางตะวันตกที่ต่อต้านรัฐบาลโชกุนตามท้องถนนในอุบัติการณ์คินมง (禁門の変) และเขาถูกบังคับให้เปลี่ยนที่พักอาศัยบ่อยครั้ง เพื่อความปลอดภัย เมื่อโชกุนคนที่ 14 โทกูงาวะ อิเอโมจิ (徳川家茂) ถึงแก่อสัญกรรมในปี 1866 เขาถูกเรียกตัวกลับไปที่เอโดะ และเปลี่ยนชื่อจากมัตสึไดระ อากิโนริเป็นโทกูงาวะ อากิตาเกะ ในปี 1867 เขาได้รับการประกาศให้เป็นผู้นำตระกูลชิมิสึ-โทกูงาวะ (清水徳川家) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Gosankyō ของตระกูลโทกูงาวะซึ่งมีสิทธิที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งโชกุน
ในปลายปี 1866 ขณะมีอายุเพียง 14 ปี โทกูงาวะ อากิตาเกะได้รับมอบหมายให้เป็นทูตพิเศษนำคณะผู้แทนญี่ปุ่นไปร่วม งานนิทรรศการโลก ที่กรุงปารีสในปี 1867 ซึ่งญี่ปุ่นมีศาลาหนึ่งหลัง[1] ชิบูซาวะ เออิอิชิ (渋沢 栄一) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมุห์บัญชีและเลขานุการของโทกูงาวะ อากิตาเกะ ในปี 1866 และได้รับมอบหมายให้ร่วมคณะผู้แทนไปกรุงปารีส เขาจดบันทึกระหว่างปฏิบัติภารกิจ[2] คณะเดินทางออกจากโยโกฮามะในวันที่ 11 มกราคม 1867 ในรัชสมัยของจักรพรรดิเมจิ และถึงปารีสในอีก 2 เดือนต่อมา[3] [4] งานดังกล่าวกระตุ้นความสนใจอย่างมากในยุโรป และทำให้ผู้เข้าชมจำนวนมากได้สัมผัสกับศิลปะและเทคนิคของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก[5]
การเข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ของคณะเดินทางของเขาประสบความสำเร็จ และเมื่องานสิ้นสุดลง โทกูงาวะ อากิตาเกะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าวิลเลิมที่ 3 แห่งเนเธอร์แลนด์ พระเจ้าวิตโตรีโอ เอมานูเอเลที่ 2 แห่งอิตาลี และสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียระหว่างการเดินทางไปยังหลายประเทศในยุโรป[6][7] กับพระเจ้าเลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม พระองค์ได้ตรวจสอบกองทหารที่สวมเสื้อคลุมต่อสู้แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นซึ่งถูกถ่ายภาพในครั้งนั้น