โบสถ์กาลหว่าร์ | |
---|---|
Holy Rosary Church | |
บริเวณด้านหน้าโบสถ์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 | |
ที่ตั้ง | ซอยวานิช 2 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ไทย |
นิกาย | โรมันคาทอลิก |
เว็บไซต์ | http://rosary.catholic.or.th/ |
ประวัติ | |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2330 |
ผู้ก่อตั้ง | บาทหลวงแดซาลส์ และคณะนักบวชชาวโปรตุเกส |
สถาปัตยกรรม | |
ประเภทสถาปัตย์ | ผังรูปทรงกางเขนโรมัน โครงสร้างผนังรับน้ำหนัก |
รูปแบบสถาปัตย์ | กอทิก[1][2] |
ปีสร้าง | พ.ศ. 2434 |
โครงสร้าง | |
อาคารยาว | 50.65 เมตร |
อาคารกว้าง | 23.03 เมตร[1] |
พื้นที่ใช้สอย | 1,166.46 ตร.ม. |
การปกครอง | |
มุขมณฑล | มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ[3] |
นักบวช | |
อัครมุขนายก | พระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช |
อธิการโบสถ์ | บาทหลวงพงศ์เทพ ประมวลพร้อม |
โบสถ์กาลหว่าร์ หรือ วัดแม่พระลูกประคำ (อังกฤษ: Holy Rosary Church) เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทรงกอทิก ตั้งอยู่ที่ซอยวานิช 2 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โบสถ์แห่งนี้ไม่ใช่โบสถ์หลังแรก หากแต่เป็นโบสถ์หลังที่สาม ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อทดแทนโบสถ์หลังเดิมที่ถูกทิ้งร้างภายหลังเพลิงไหม้ใหญ่ในปี พ.ศ. 2407 โบสถ์ในปัจจุบันได้สร้างขึ้นโดยคุณพ่อแดซาลส์ ชาวฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2434 ปัจจุบันโบสถ์มีอายุรวมแล้ว 133 ปี ถือเป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
โบสถ์ได้รับการบูรณะใหญ่ในปี พ.ศ. 2500 ในสมัยที่คุณพ่ออาแมสตอย เป็นอธิการโบสถ์ และถือเป็นการฉลองครบ 60 ปีของโบสถ์กาลหว่าร์อีกด้วย การบูรณะครั้งล่าสุดคือในช่วงปี พ.ศ. 2526 - 2532 โดยมีบาทหลวงประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย เป็นอธิการโบสถ์ในขณะนั้น[4] ปัจจุบัน โบสถ์กาลหว่าร์ได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์เป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว[5]
โบสถ์แห่งนี้มีจุดเด่นที่สำคัญคือ รูปปั้น 2 รูปซึ่งเป็นสมบัติเก่าแก่ตั้งแต่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ได้แก่ "รูปแม่พระลูกประคำ" และ "รูปพระศพของพระเยซูเจ้า" โดยทั้งหมดนี้ยังคงเก็บรักษาและใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาจนถึงปัจจุบันนี้[6]
อธิการโบสถ์องค์ปัจจุบันคือ บาทหลวงไพทูรย์ หอมจินดา[7]
ชาวโปรตุเกสที่อยู่ ณ ค่ายแม่พระลูกประคำ ได้ทำการสร้างโบสถ์หลังแรกเสร็จในปี ค.ศ. 1787 ลักษณะเป็นแบบบ้านไม้หลังใหญ่ ยกพื้นสูงเพราะน้ำท่วมอยู่เสมอ ภายในเป็นห้องประชุมใหญ่ มีห้องชาคริสเตีย แและด้านข้างมีบ้านพักบาทหลวงขนาดน้อยหลังหนึ่ง[8] และในโบสถ์หลังนี้เอง ชาวโปรตุเกสได้นำรูปแม่พระลูกประคำที่นำมาด้วยจากกรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานไว้ด้านหลังพระแท่น ส่วนรูปพระศพของพระเยซูเจ้านั้น ถูกเก็บไว้ในตู้ ปิดกุญแจ วางไว้ในห้องชาคริสเตีย (ห้องหลังโบสถ์) และจากพระรูปนี้เอง จึงเป็นที่มาของชื่อ "วัดกาลหว่าร์"[9]
ขณะนั้นมีคริสตังชาวโปรตุเกส 137 คน แต่ไม่มีบาทหลวงมาอยู่ประจำ มีเพียงบาทหลวงชาวฝรั่งเศสมาถวายมิสซาบ้างเป็นบางครั้ง เมื่อไม่มีบาทหลวงโปรตุเกสมาประจำอยู่ พวกเขาค่อย ๆ ยอมรับมุขนายกชาวฝรั่งเศสซึ่งได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้องจากสมเด็จพระสันตะปาปา ดังนั้นพระคุณเจ้าฟลอรังส์ จึงเข้าปกครองโบสถ์กาลหว่าร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1822 เป็นต้นมา[10]
ต่อมาชาวโปรตุเกสจากค่ายแม่พระลูกประคำได้อพยพโยกย้ายไปทำมาหากินตามที่ต่าง ๆ ทำให้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนแทบไม่หลงเหลืออยู่อีกต่อไป มีบาทหลวงชาวไทยมาทำมิสซาบ้างเป็นบางโอกาส
ในปี ค.ศ. 1820 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งตั้งอยู่ใต้โบสถ์กาลหว่าร์ลงไปเล็กน้อย เพื่อตั้งกงสุลโปรตุเกส และในภายหลังได้กลายเป็น สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ในปัจจุบัน[11]
คุณพ่อ อัลบรังค์ มาถึงกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1815 ประจำอยู่ที่โบสถ์อัสสัมชัญ ท่านได้ติดต่อกับชาวจีนกลุ่มหนึ่ง และท่านได้ไปโปรดศีลล้างบาปให้ชาวจีนกลุ่มนั้นที่โบสถ์อัสสัมชัญ ต่อมาในปี ค.ศ. 1837 ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านพักบาทหลวง ที่โบสถ์กาลหว่าร์ เพื่อความสะดวกในการดูแลคริสตังชาวจีน ที่ทำมาค้าขายอยู่ในบริเวณนี้ และ ณ ที่นี้เอง ท่านได้สร้างศาลาใหญ่ ทำด้วยไม้ไผ่มุงแฝก เพื่อเป็นที่สอนคำสอน แก่คริสตังใหม่ด้วย
ฯพณฯ กูรเวอซี่ ได้สั่งให้รื้อโบสถ์หลังแรก เพราะไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้วและให้สร้างโบสถ์หลังที่ 2 เป็นเครื่องอิฐครึ่งไม้กำแพงอิฐสูงเท่าตัวคน ปิดชั้นบนด้วยเสาไม้เรียงกัน และได้ทำหอระฆังด้วยอิฐ ตั้งอยู่ใกล้ๆ แยกจากตัวโบสถ์ พระคุณเจ้าปาลกัว ซึ่งเป็นมุขนายกผู้ช่วยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1833 ได้ทำพิธีเสกในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1839 ซึ่งเป็นวันฉลองแม่พระลูกประคำ และตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า "วัดแม่พระลูกประคำ"[12] ทำให้ชาวโปรตุเกสพอใจเป็นอย่างมาก เพราะรูปแม่พระลูกประคำของพวกเขาได้รับเกียรติให้เป็นอุปถัมภ์โบสถ์สืบมาจนทุกวันนี้
ส่วนรูปพระศพของพระเยซูเจ้านั้นก็ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดี โดยจะนำมาแห่รอบโบสถ์ปีละ 1 ครั้ง ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้บรรดาสัตบุรุษได้กราบไหว้นมัสการ[13] และพิธีนี้ก็ยังคงกระทำติดต่อกันมาตลอดทุกปี จวบจนถึงปัจจุบัน
คุณพ่อดีอปองค์ รับหน้าที่แทนคุณพ่อ อัลบรังค์ ท่านออกไปประกาศศาสนาตามเมืองเล็กเมืองน้อยอยู่ประจำ และท่านปกครองดูแลทำงานเทศน์สอน อยู่ประมาณ 18 ปีก็ได้รับอภิเษกเป็นมุขนายกปกครองมิสซังในประเทศไทย
คุณพ่อดาเนียล ชาวฝรั่งเศส เข้ามาปกครองสืบต่อจากคุณพ่อดีอปองค์ ในปี ค.ศ. 1864 และในปีนี้เองเกิดเพลิงไหม้บ้านพักบาทหลวง ซึ่งได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อเอกสารต่างๆ ของโบสถ์[14] ภายหลังเหตุการณ์ได้ 10 ปีคุณพ่อดาเนียลก็กลับฝรั่งเศส
คุณพ่อซาลาแด็ง ได้รับหน้าที่ต่อจากคุณพ่อดาเนียล ในปี ค.ศ. 1874 นับเป็นคุณพ่ออธิการโบสถ์องค์ที่ 4 ประจำอยู่ 4 ปี แล้วย้ายไปเป็นอธิการโบสถ์บางช้าง (อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม) จากนั้นก็มีคุณพ่อราบาร์แดล และคุณพ่อโฟก มารับช่วงตำแหน่งติดต่อกันองค์ละ 2 เดือน ตามลำดับ
ในโบสถ์หลังที่ 2 นี่เอง เจ้าหน้าที่สถานทูตโปรตุเกสจะมีที่นั่งสงวนไว้สำหรับพวกเขา เพราะเขาถือความสัมพันธ์ที่พวกเขามีอยู่อย่างแน่นแฟ้นกับชุมชนนี้ และธรรมเนียมนี้ก็ยังคงมีต่อมาแม้ในโบสถ์หลังที่ 3 คือหลังปัจจุบันก็ตาม และเป็นเช่นนี้จนกระทั่ง ภาษาไทย และภาษาจีน เข้ามาแทนที่ภาษาละติน จึงเลิกธรรมเนียมนี้ไป[15]
ในปี ค.ศ. 1879 คุณพ่อเดสซาลส์ มาปกครองโบสถ์กาลหว่าร์ ได้พยายามบูรณะซ่อมแซมโบสถ์หลังที่ 2 แต่ก็สุดที่จะกระทำได้ เพราะชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้ทำการรื้อเมื่อปี ค.ศ. 1890 และย้ายไปทำมิสซาที่ตึกบริเวณโบสถ์แทน ระหว่างนั้นเองคุณพ่อได้พยายามวิ่งเต้นเพื่อหาเงินจัดสร้างใหม่ขึ้นแทน โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกลุ่มพ่อค้าคริสตังจีนที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่กำลังรุ่งเรือง คือ กลุ่มพ่อค้าบริษัทเคียมฮั่วเฮงและบ้วนฮั่วเส็ง[16] ความพยายามของท่านก็สัมฤทธิ์ผลเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1891 ตรงกับวันฉลองแม่พระลูกประคำ มีพระคุณเจ้าฌอง หลุยส์ เวย์ ได้กระทำพิธีเสกศิลาฤกษ์
การก่อสร้างโบสถ์หลังใหม่ ซึ่งวางโครงสร้างอย่างถาวร มีความโออ่า ด้วยสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิก เป็นรูปกางเขนโรมันหันหน้าลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระแท่นหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นอยู่ด้านในสุดของโบสถ์ เป็นที่ตั้งของพระแท่นหินอ่อน เหนือพระแท่นมีพระรูปจำลองขนาดใหญ่ของแม่พระและพระกุมาร และกำลังมอบสายประคำให้นักบุญดอมินิก และนักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนา ถัดมาทางมุขด้านหน้าบริเวณพระแท่นนั้นมีพระแท่นเล็กตั้งไว้ตรงกันในมุข 2 ด้าน โดยบริเวณเหนือพระแท่นเล็กด้านใต้ เป็นพระรูปพระหฤทัยของพระเยซู และด้านเหนือเป็นรูปนักบุญโยเซฟ
นอกจากนั้นตามผนังยังมีรูปปั้นนักบุญต่างๆ และรูป 14 ภาค แขวนไว้โดยรอบด้านหน้าโบสถ์ใกล้ประตูมีรูปทูตสวรรค์ ถือเปลือกหอย บรรจุน้ำเสก สำหรับผู้เข้า-ออกโบสถ์ ใช้ทำ สำคัญมหากางเขน ตั้งอยู่ทั้ง 2 ข้าง บริเวณเหนือหน้าต่างทุกบานจะมีกระจกสีช่องแสงสวยงาม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระคัมภีร์เก่าและใหม่ ควบคู่กันไป มองจากภายนอกจะเห็นยอดสูง ซึ่งเป็นหอระฆัง บนยอดปักรูปกางเขนไว้ให้แลดูสง่างาม
โบสถ์หลังนี้ก่อสร้างด้วยการก่ออิฐถือปูนซึ่งเป็นลักษณะวิธีการก่อสร้างในสมัยนั้น มิใช่การทำเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นปัจจุบันนัยว่า ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 7 ปี เงินในการก่อสร้าง 7 หมื่น 7 พันบาท ได้ทำการเสกเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1897 ซึ่งในขณะนั้นมีสัตบุรุษ ชาย หญิงทั้งสิ้น ประมาณ 600 คน[17]
"กาลหว่าร์" น่าจะมาจากคำว่า กัลวารีโอ เนินเขาที่ทำการตรึงพระเยซูที่กางเขนนั่นเอง[18]