โบสถ์น้อยซัสเซตตี

ชาเปลซาสเซ็ตติ
(ส่วนหนึ่งของวัดซานตาทรินิตา)
Sassetti Chapel
ชาเปลซาสเซ็ตติ
แผนที่
43°46′13″N 11°15′03″E / 43.77028°N 11.25083°E / 43.77028; 11.25083
ที่ตั้งฟลอเรนซ์ในประเทศอิตาลี
ประเทศ ประเทศอิตาลี
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะชาเปลภายในวัดคริสต์ศาสนา
ผู้ก่อตั้งตระกูลซาสเซ็ตติ
เหตุการณ์จิตรกรรมฝาผนังโดยโดเมนนิโค เกอร์ลันเดา
สถาปนิกฟรานเชสโก ซาสเซ็ตติ
ประเภทสถาปัตย์ชาเปลด้านข้าง
รูปแบบสถาปัตย์กอธิค
ปีสร้างค.ศ. 1483 – ค.ศ. 1486
วัสดุชาเปลด้านข้างภายในสิ่งก่อสร้าง

ชาเปลซาสเซ็ตติ (อังกฤษ: Sassetti Chapel; ภาษาอิตาลี: Cappella Sassetti) เป็นชาเปลที่ตั้งอยู่ภายในวัดซานตาทรินิตาที่เมืองฟลอเรนซ์ในประเทศอิตาลี สิ่งที่สำคัญที่สุดภายในชาเปลคืองานจิตรกรรมฝาผนังชิ้นเอกโดยโดเมนนิโค เกอร์ลันเดาที่เป็นภาพชุดชีวิตของนักบุญฟรานซิสแห่งอาซิซิ

ประวัติ

[แก้]

ฟรานเชสโก ซาสเซ็ตติ (Francesco Sassetti) (ค.ศ. 1421-ค.ศ. 1490) ผู้เป็นผู้จัดการผู้มีอำนาจของธนาคารเมดิชิที่เจนัว ในปี ค.ศ. 1478 ฟรานเชสโกซื้อชาเปลนักบุญฟรานซิสจากวัดซานตาทรินิตาในเมืองฟลอเรนซ์ หลังจากที่ทางวัดโดมินิคันซานตามาเรียโนเวลลาไม่ยอมรับข้อเสนอที่จะให้ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นภาพฉากชีวิตของนักบุญฟรานซิสแห่งอาซิซิในชาเปลที่เคยเป็นของตระกูลเมดิชิ แต่ชาเปลนั้นก็มาตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังโดยเกอร์ลันเดาที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อว่าชาเปลทอร์นาบุโอนิ (Tornabuoni Chapel) มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14

ฟรานเชสโกจ้างจิตรกรที่มีชื่อเสียงที่สุดในฟลอเรนซ์ขณะนั้น--โดเมนนิโค เกอร์ลันเดา วันลงนามในสัญญาลงชื่อใกล้กับภาพเหมือนของฟรานเชสโกและภรรยาในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1480 แม้ว่าการเขียนภาพจะไม่ได้เริ่มจนระหว่างปี ค.ศ. 1483 ถึงปี ค.ศ. 1486 ส่วนฉากแท่นบูชาเอกของชาเปลเป็นภาพ “การชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1485

ภายในชาเปลเกอร์ลันเดาเขียนภาพชุดชีวิตของนักบุญฟรานซิสที่รวมภาพบุคคลสำคัญ ๆ หลายคนในสังคมและฉากภูมิทัศน์ร่วมสมัยของฟลอเรนซ์ขณะนั้น ลักษณะงานส่วนใหญ่มีอิทธิพลมาจากตระกูลการเขียนภาพแบบเฟลมมิชโดยเฉพาะจากงาน “ฉากแท่นบูชาพอร์ตินาริ” โดย ฮูโก ฟาน เดอร์ โกส์ที่ถูกนำกลับมาฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1483 (ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟิซิ)

ชาเปลซาสเซ็ตติได้รับการบูรณะในปี ค.ศ. 2004

โครงสร้าง

[แก้]
ผู้อุทิศฟรานเชสโก ซาสเซ็ตติ

ชาเปลก็เช่นเดียวกับตัววัดที่ตั้งที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบกอธิค

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนบนผนังสามด้านภายในกรอบตกแต่ง สองด้านของชาเปลเป็นที่บรรจุศพของฟรานเชสโก ซาสเซ็ตติและภรรยานอรา คอร์ซิภาพใต้ซุ้มตกแต่งทองโดยจูลิอาโน ดา ซานกาลโล ฉากแท่นบูชาเอกตรงกลางชาเปลล้อมรอบด้วยการตกแต่งให้เหมือนหินอ่อนเป็นกรอบ สองข้างฉากเป็นภาพฟรานเชสโกและนอราคุกเข่าแสดงความเคารพไปทางฉากแท่นบูชา ฟรานเชสโกทางขวานอราทางซ้าย

นอกจากจะเขียนจิตรกรรมฝาผนังของภายในชาเปลแล้วเกอร์ลันเดาก็ยังเขียนส่วนที่เป็นแขนกางเขนของวัดด้วย แต่ถูกฉาบปูนทับในคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่มาพบอีกครั้งในปี ค.ศ. 1895 งานนอกชาเปลระบุว่าวาดโดยพี่น้องเกอร์ลันเดา (โดเม็นนิโค, ดาวิด, เบเนเด็ตโต) และผู้ช่วย เกอร์ลันเดาใช้ทัศนมิติที่ทำให้ผู้ดูจากข้างล่างมองเห็นภาพที่ดูเหมือนจะถูกต้องตามความเป็นจริง

ฉากแรกที่เขียนเหนือชาเปลคือ “ประกาศกีทิเบอร์ทีนประกาศการมาเกิดของพระเยซู” แก่ออกัสตัส ซีซาร์ สันนิษฐานกันว่าใบหน้าของประกาศกีคือใบหน้าของซิบิเลียลูกสาวของฟรานเชสโก บนเสาที่แยกชาเปลซาสเซ็ตติจากชาเปลอื่นเป็นภาพรูปปั้นของเดวิดแบบจิตรกรรมเอกรงค์ บนเพดานของชาเปลเป็นประกาศกีสี่องค์ล้อมรอบด้วยเพลิงทองและถือแถบที่ประกาศคำพยากรณ์ที่เวอร์จิล (Virgil) เป็นผู้กำหนด

Hec teste Virgil Magnus, in ultima autem etate;
Invisibile verbum palapabitur germinabit.

ระบุกันว่าใบหน้าเท่านั้นที่วาดโดย เกอร์ลันเดา ส่วนร่างวาดโดยเวิร์คช็อพ

ชีวิตของนักบุญฟรานซิส

[แก้]

จิตรกรรมฝาผนังชุดชีวิตวาดบนผนังสามด้านของชาเปลเป็นฉากจากประวัติของนักบุญฟรานซิสแห่งอาซิซิที่มีด้วยกันทั้งหมดหกฉาก:

  • “นักบุญฟรานซิสสละสมบัติ” (Renunciation of Worldly Goods)
  • “อนุมัติกฎฟรานซิสกัน” (The Confirmation of the Franciscan Rule)
  • “นักบุญฟรานซิสลุยไฟ” (The Test of Fire)
  • “ปาฏิหาริย์ของแผลศักดิ์สิทธิ์” (The Miracle of the Stigmata)
  • “ความตายของนักบุญฟรานซิส” (Death of St. Francis)
  • “นักบุญฟรานซิสชุบชีวิตเด็ก” (The Resurrection of the Boy)

เกอร์ลันเดาอาจจะไม่เคยเห็นภาพชุดชีวิตของนักบุญฟรานซิสในมหาวิหารเซนต์ฟรานซิสแห่งอาซิซิที่อาซิซิ แต่น่าจะทราบถึงภาพชุดเดียวกันในชาเปลบาร์ดิในบาซิลิกาซานตาโครเชในฟลอเรนซ์ที่วาดโดยจอตโต ดี บอนโดเนในคริสต์ศตวรรษที่ 14

“นักบุญฟรานซิสสละสมบัติ”

[แก้]
“นักบุญฟรานซิสสละสมบัติ”
“อนุมัติกฎฟรานซิสกัน”

ฉากนี้ตั้งอยู่ที่มุมซ้ายบนของผนัง เป็นภาพนักบุญฟรานซิสประกาศสละสมบัติทางโลกทั้งหมดโดยถอดเสื้อผ้าออกหมดต่อหน้าสาธารณชนโดยมีบาทหลวงแห่งเปรูเจียเป็นผู้ปกป้อง พ่อที่โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงถูกรั้งตัวอยู่ทางซ้าย ฉากในภาพเป็นฉากในเมืองทางตอนเหนือของยุโรปที่เชื่อกันว่าเป็นเมืองเจนีวาหรือลีอองที่ซาสเซ็ตติเคยไปทำงานให้ตระกูลเมดิชิ ตัวแบบรอง ๆ ในภาพอาจจะวาดโดยพี่น้องของโดเม็นนิโคและเวิร์คช็อพ

“อนุมัติกฎฟรานซิสกัน”

[แก้]

ฉากนี้ตั้งอยู่ตรงกลางด้านบนของผนัง เป็นภาพนักบุญฟรานซิสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาโฮโนริอุสที่ 3ที่มหาวิหารเซนต์จอห์นแลเตอร์รันในโอกาสที่ทรงอนุมัติลัทธิฟรานซิสกัน ฉากเกิดขึ้นภายในมหาวิหารซึ่งทำให้ซุ้มโค้งของชาเปลเปรียบเหมือนซุ้มประตูชัย (triumphal arch) รายละเอียดอื่น ๆ ในภาพแสดงว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ฟลอเรนซ์แทนที่จะเป็นโรม เพราะฉากหลังเป็นจตุรัสซินยอเรีย (Piazza della Signoria),พาลัซโซ เวคคิโอ (Palazzo Vecchio) และศาลาลันซิ (Loggia dei Lanzi) (ที่ขณะนั้นยังไม่มีรูปปั้นต่าง ๆ) การเลือกฟลอเรนซ์ก็เป็นนัยในการแสดงถึงความมีอำนาจและฐานะของฟลอเรนซ์ในขณะนั้น ในหมู่นักมนุษย์วิทยาถือกันว่าฟลอเรนซ์เป็นโรมหรือเยรุซาเล็มใหม่

ภาพร่างของงานชิ้นนี้ที่ปัจจุบันอยู่ที่เบอร์ลินแสดงให้เห็นว่าเกอร์ลันเดาตั้งใจจะเขียนภาพที่มีลักษณะโบราณกว่าภาพที่เห็นในปัจจุบันเป็นแบบไอคอนตามแบบจิตรกรรมฝาผนังในวัดซานตาโครเชโดยไม่มีภาพเหมือน แต่มาเปลี่ยนแปลงโดยการแบ่งภาพออกเป็นสามตอน: บันได, วัด และฉากหลัง ทางด้านขวาด้านหน้าเป็นภาพพี่เขยของซาสเซ็ตติ กอนฟาโลเนียริ ดิ จุสติเซีย อันโตนิโอ พุชชิ (Gonfaloniere di Giustizia Antonio Pucci), นายจ้างลอเรนโซ เดอ เมดิชิ; ตัวฟรานเชสโกเองและลูกชายเฟเดอริโค ลอเรนโซยกมือทักทายอักโนโล โพลิเซียโน ครูของลูกชายสามคนที่กำลังเดินขึ้นบันไดตามมา (จุยเลียโน (Giuliano di Lorenzo de' Medici), เปียโร (Piero di Lorenzo de' Medici) และ จิโอวานนิ ผู้ต่อมาเป็นพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 ตามด้วยสมาชิกของสถาบันมนุษย์วิทยา ลุยจิ พุลชิ (Luigi Pulci) และ มัตเตโอ ฟรังโค (Matteo Franco) ซาสเซ็ตติชี้ไปทางกลุ่มลูกชายอีกด้านหนึ่งของบันได: กาเลอัซโซ, เทโอโดโร และโคสิโม

ภาพนี้ได้ชื่อว่าเป็นงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของเกอร์ลันเดาแสดงภาพเหมือนของคนสำคัญ ๆ ในฟลอเรนซ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 แต่ไม่เหมือนกับงานของบอตติเชลลีที่ก็เขียนภาพของตระกูลเมดิชิเช่นกัน แต่งานของบอตติเชลลีไม่มีลักษณะเก๋ (stylised) หรือ เทิดทูนตัวแบบ (idealised) เท่างานของเกอร์ลันเดา

“นักบุญฟรานซิสลุยไฟ”

[แก้]
“นักบุญฟรานซิสลุยไฟ”
“ปาฏิหาริย์ของแผลศักดิ์สิทธิ์”

ฉากนี้ตั้งอยู่ที่มุมขวาบนของผนัง เป็นภาพนักบุญฟรานซิสเทศนาสุลต่านอัล-คามิลแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (Al-Kamil) ผู้มีพระราชโองการให้นักบุญฟรานซิสลุยไฟเพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงความศรัทธา องค์ประกอบของภาพคล้ายงานของจอตโตในวัดซานตาโครเชโดยมีสุลต่านอยู่กลางภาพ นักบุญฟรานซิสอยู่ทางขวากับหลวงพ่อฟรานซิสกันที่ติดตามมา แต่ความสามารถในการเขียนตัวแบบด้านหน้าที่หันหลังให้ผู้ดูทำให้เป็นงานที่เรียกว่าดีที่สุดในภาพชุดนี้

“ปาฏิหาริย์ของแผลศักดิ์สิทธิ์”

[แก้]

ฉากนี้ตั้งอยู่ที่มุมซ้ายล่างของผนัง เป็นภาพนักบุญฟรานซิสคุกเข่าอ้าแขนรับการมาปรากฏตัวของพระเยซูบนกางเขนรับโดยกลุ่มเทวดาเชอรูบิม จิตรกรรมฝาผนังเขียนภายในสิบวัน แม้ว่าองค์ประกอบของภาพจะคล้ายกับงานของจอตโตในวัดซานตาโครเช แต่เกอร์ลันเดาน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากงานแกะหินอ่อนนูนบนแท่นเทศน์ของเบ็นเนเด็ตโต ดา มาเอียโน (Benedetto da Maiano) ในวัดซานตาโครเชเช่นกัน ปาฏิหาริย์ในภาพเกิดขึ้นที่ลาเวอร์นา (La Verna) ที่เห็นปราสาทอยู่ในฉากหลังที่วาดอย่างละเอียดละออรวมทั้งกวางที่วาดอย่างงดงาม ทางขวาเป็นภาพเมืองริมฝั่งทะเลสาบซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของปิซาที่รวมทั้งมหาวิหารปิซาและหอเอนปิซา

“ความตายของนักบุญฟรานซิส”

[แก้]

ฉากสุดท้ายของภาพชุดอยู่ทางมุมล่างซ้ายของผนังเป็นฉากที่เขียนเสร็จภายใน 28 วัน เป็นภาพร่างของนักบุญฟรานซิสที่เสียชีวิตไปแล้วที่นอนอยู่บนแท่นวางร่างผู้เสียชีวิต (catafalque) กลางวัดแบบเรอเนสซองซ์ ล้อมรอบไปด้วยนักบวชและคนอื่น ๆ การวางองค์ประกอบมาจากงานของจอตโตในวัดซานตาโครเชที่จะเห็นได้จากรายละเอียดต่าง ๆ เช่น การวางท่าของนักบวช แต่เกอร์ลันเดาจะเพิ่มรายละเอียดที่ต่างออกไปเช่นฉากหลังที่ยิ่งใหญ่ และท่าทางการตอบรับของบุคคลต่าง ๆ ในภาพ

ชายสามคนทางขวาที่เป็นพ่อและลูกชายกับหลานอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับครอบครัวซาสเซ็ตติ ทางด้านขวาเป็นครูโปลิเซียโนที่ยืนข้างบาโทโลมิโอ โฟนซิโอ (Bartolomeo Fonzio)

“นักบุญฟรานซิสชุบชีวิตเด็ก”

[แก้]
“ความตายของนักบุญฟรานซิส”
“นักบุญฟรานซิสชุบชีวิตเด็ก”

ฉากนี้เป็นฉากที่เกิดขึ้นหลังจากนักบุญฟรานซิสเสียชีวิตไปแล้วที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวซาสเซ็ตติฉะนั้นจึงตั้งอยู่ตรงกลางชาเปลไม่อยู่ในลำดับเรื่องตามกาลเวลาที่เกิดขึ้น เป็นภาพการชุบชีวิตของเด็กผู้ชายที่ตายเพราะตกจากพาลัซโซสปินิ เฟโรนิ (Palazzo Spini Feroni) วังในจตุรัสที่อยู่หน้าวัดซานตาทรินิตา จากหลักฐานที่น่าเชื่อถือเกอร์ลันเดาได้รับแรงบันดาลใจจากภาพ “เก็บภาษี” ภายใน ชาเปลบรันคาชชิ (Brancacci Chapel) ที่วาดโดยมาซาชิโอ

เด็กที่ได้รับการชุบชีวิตอยู่กลางองค์ประกอบของภาพ นั่งประสานมือบนที่นอนที่คลุมด้วยผ้าและเครื่องตกแต่งอย่างตะวันออก นักบุญฟรานซิสปรากฏตัวให้พรจากฟ้าด้านบนของภาพ สองข้างภาพเป็นกลุ่มคนที่เห็นเหตุการณ์ ในบรรดาผู้คนก็มีผู้ที่เป็นที่รู้จักกันในฟลอเรนซ์ในสมัยนั้น ผู้หญิงห้าคนทางด้านซ้ายอาจจะเป็นลูกสาวของฟรานเชสโก ซาสเซ็ตติ สามีและคู่หมั้นอยู่ทางขวา ชายคนสุดท้ายของแถวซ้ายแรกคือตัวเกอร์ลันเดาเอง และที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือสาวใช้ชาวมัวร์ คนอื่น ๆ ทางขวาก็มี มาโซ เดกลิ อัลบิซซิ (Maso degli Albizzi), อักโนโล อัคเชียโอลิ ดิ คัสสาโน (Agnolo Acciaioli di Cassano), ปัลลา สโตรซซิ (Palla Strozzi) และ เนริ ดิ จิโน คัปโปนิ (Neri di Gino Capponi) สองคนสุดท้ายอาจจะเป็นโพลซิอาโนและโฟนซิโอ

นอกจากนั้นฉากนี้ยังมีความสำคัญตรงที่แสดงรายละเอียดของจตุรัสซานตาทรินิตาในคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยเห็นด้านหน้าวัดที่ยังเป็นแบบโรมาเนสก์, พาลัซโซสปินิ เฟโรนิที่ดูเหมือนป้อมและสะพานซานตาทรินิตา (Ponte Santa Trinita) ก่อนที่จะได้รับการตกแต่ง กลุ่มคนสามคนที่ยืนอยู่ปลายที่นอนว่ากันว่าเป็นผู้รับใช้

ฉากแท่นบูชาเอก

[แก้]
การชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ

การชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ” เขียนในปี ค.ศ. 1485[1] ภาพนี้ได้ชื่อว่าเป็นงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของเกอร์ลันเดาและของตระกูลการเขียนแบบฟลอเรนซ์ เป็นงานที่มีอิทธิพลมาจากตระกูลการเขียนภาพแบบเฟลมมิชโดยเฉพาะจากงาน “บานพับภาพพอร์ตินาริ” โดย ฮูโก ฟาน เดอร์ เกาะส์ ที่ถูกนำกลับมาฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1483 โดยตระกูลพอร์ตินาริสำหรับวัดซานอีจิดิโอ อิทธิพลที่ได้รับจะเห็นได้จากการวางองค์ประกอบและลักษณะการวาดที่เหมือนจริงของคนเลี้ยงแกะสามคนทางขวาของภาพที่คนหนึ่งเป็นภาพเหมือนตนเอง บนกรอบมีคำจารึก “ผู้ให้ความชื่นชมแก่พระแม่มารี” (“Ipsum quem genuit adoravit Maria”) ซึ่งอาจจะหมายถึงความรู้สึกของเกอร์ลันเดาเอง

นอกจากได้รับอิทธิพลของการเขียนของภาพเขียนเฟล็มมิชแล้วเกอร์ลันเดาก็ยังให้ความสนใจกับการวาดรายละเอียดทุกอย่างในภาพ และแต่ละอย่างที่วาดก็เป็นสัญลักษณ์; ทัศนมิติของภาพมีความรู้สึกว่าเบาและค่อยกลืนหายไปกับฉากหลังที่เป็นรายละเอียดของเนินและเมือง เมืองที่ใกลที่สุดทางขวาเป็นสัญลักษณ์ของเยรุซาเล็มที่มีโดม ด้านหน้าของเมืองมีต้นไม้ที่ตายแล้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าได้รับความพ่ายแพ้จากการโจมตี เมืองทางซ้ายคือโรมซึ่งมีที่เก็บศพของออกัสตัส ซีซาร์ และ เฮเดรียนผู้ได้รับคำพยากรณ์เกี่ยวการมากำเนิดของพระเยซู (ผู้ขณะนั้นเชื่อกันว่าถูกบรรจุไว้ใต้ประตูมิลิซี (Torre delle Milizie)) แต่ในตัวเมืองมีวัดที่ดูคล้ายมหาวิหารฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นนัยว่าฟลอเรนซ์คือกรุงโรมใหม่

สองข้างฉากแท่นบูชาขนาบด้วยฟรานเชสโก และนอรา ซาสเซ็ตติผู้อุทิศคุกเข่าถวายความเคารพ

ฉากในภาพเกิดบนลานดอกไม้โดยมีพระแม่มารีอยู่ทางซ้ายด้านหน้าคุกเข่าต่อหน้าพระบุตรที่นอนอยู่หน้าโลงหินโรมันที่มีคำจารึกว่า “Ense cadens soly mo Pompei Fulvi[us] augur Numen aitquae me conteg[it] urna dabit” ที่เป็นนัยถึงการมากำเนิดของพระเยซูตามคำทำนายของฟุลเวียสที่ถูกสังหารโดยนายทหารโรมันปอมเปย์ผู้ยิ่งใหญ่ (Pompey the Great) ระหว่างการที่โรมันได้รับชัยชนะต่อเยรุซาเล็ม คำพยากรณ์กล่าวว่าจากโลงหินของฟุลเวียสพระผู้เป็นเจ้าจะมากำเนิดซึ่งเป็นนัยถึงชัยชนะของคริสต์ศาสนจักรต่อผู้นอกรีต

ข้าง ๆ แมรีเป็นนักบุญโจเซฟมองไปทางด้านข้าง ฉากหลังมีเทวดาประกาศแก่คนเลี้ยงแกะถึงการมากำเนิดของพระเยซู ขณะที่ทางซ้ายเป็นขบวนของแมไจเดินผ่านซุ้มประตูชัย ที่มีคำจารึกว่า “นักบวชเฮียร์คานัสสร้างซุ้มนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ปอมเปย์ผู้ยิ่งใหญ่” (“Gn[eo] Pompeo Magno Hircanus Pont[ifex] P[osuit]”) ทางซ้ายคนสองคนที่อยู่ติดกับแมไจที่สุดจ้องมาทางแสงที่สว่างเหนือกระท่อมซึ่งเป็นแสงที่อาจจะมาจากดวงดาว หลังโลงหินเป็นวัวและลาซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของชาวยิวและชนเผ่าอื่นที่ไม่ใช่คริสเตียน

หินสามก้อนด้านหน้าภาพเป็นนัยถึงซาสเซ็ตติที่ในภาษาอิตาลีหมายถึงหินก้อนเล็ก ๆ บนหินก้อนหนึ่งมีนกโกลด์ฟินช์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทุกขกิริยาของพระเยซูและการฟื้นชีพของพระองค์

อ้างอิง

[แก้]
  1. The date MCCCCLXXXV is visible on the capital of one of the Roman pilasters supporting the hut's roof.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ชาเปลซาสเซ็ตติ วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ วัดซานตาทรินิตา