โบเน็งไก 忘年会 | |
---|---|
![]() งานเลี้ยงโบเน็งไกเริ่มต้นด้วยการดื่มอวยพรด้วยเบียร์ | |
ประเภท | งานเลี้ยง |
วันที่ | ธันวาคม |
ความถี่ | ทุกปี |
ประเดิม | ศตวรรษที่ 15 |
โบเน็งไก (ญี่ปุ่น: 忘年会; โรมาจิ: bōnenkai; แปลว่า "ชุมนุมลืมปี") เป็นงานเลี้ยงดื่มสุราของญี่ปุ่นที่จัดขึ้นในช่วงปลายปี และโดยทั่วไปจะจัดขึ้นในหมู่เพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนฝูง[1][2] จุดประสงค์ของงานเลี้ยงตรงตามชื่อคือเพื่อลืมความทุกข์ยากและปัญหาในปีที่ผ่านมา และมองไปยังปีใหม่อย่างมีความหวัง ซึ่งโดยปกติแล้วจะเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก โบเน็งไกไม่ได้จัดขึ้นในวันใดวันหนึ่งโดยเฉพาะ แต่โดยปกติแล้วจะจัดขึ้นภายในเดือนธันวาคม[1]
โบเน็งไกจัดขึ้นโดยกลุ่มของเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน หรือได้รับการสนับสนุนจากบริษัทหรือสำนักงานธุรกิจสำหรับพนักงาน โบเน็งไกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองตรุษญี่ปุ่นซึ่งกินเวลาถึงวันที่ 3 มกราคม แต่เป็นวิธีส่งท้ายปีด้วยการเฉลิมฉลองเป็นกลุ่ม[3] ประเพณีนี้เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 15 ในช่วงสมัยมูโรมาจิเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ ในเวลานั้นงานเลี้ยงนี้เรียกว่าโนไก (納会, "ชุมนุมความสำเร็จอันยิ่งใหญ่") ในศตวรรษที่ 18 งานเลี้ยงกลายเป็นที่รู้จักในชื่อโบเน็งไกหรืองานเลี้ยงสิ้นปี[4]
โบเน็งไก ถือกันว่าว่าเป็นเวลาสำหรับบูเรโก (無礼講) หรือการปล่อยผมสยายและไม่ถือกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างเจ้านาย/ลูกจ้างหรือการแบ่งชั้นยศและอายุ[5]
เมื่อองค์กรธุรกิจตัดสินใจที่จะมีโบเน็งไก จะคำนึงถึงหลายสิ่งหลายอย่างก่อนที่จะวางแผนจัดงานเลี้ยง ข้อกังวลบางประการคือพนักงานและผู้บริหารที่เข้าร่วมงานเลี้ยงต้องมีจำนวนพอสมควรและต้องพยายามจำกัดค่าใช้จ่ายทั่วไปไม่เกิน 5,000 เยนต่อคน ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของงานเลี้ยงและเพื่อที่พนักงานจะได้เข้าร่วมงานเลี้ยงที่ไม่แพงจนเกินไป[5] บริษัทบางแห่งออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดของงานเลี้ยงและในบางครั้งอาจเลือกที่จะไม่จัดงานเลี้ยงที่ร้านอิซากายะ (ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มักใช้เป็นที่จัดงานโบเน็งไก) และจัดงานเลี้ยงในสถานที่ธุรกิจแทนเพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก[5]
ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 16 งานเลี้ยงสังสรรค์ถูกจัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์คล้ายกับงานโบเน็งไกในยุคปัจจุบัน ในวันที่ 30 ธันวาคม กลุ่มขุนนางซามูไรจะรวมตัวกันเพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า "การลืมประจำปี" ประกอบด้วยกิจกรรมของชนชั้นสูงทั่วไป เช่น การเขียนและท่องบทกวี และตามด้วยงานเลี้ยงขนาดใหญ่[6] งานเลี้ยงเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องสามัญในหมู่ประชาชนทั่วไปของญี่ปุ่น จนกระทั่งมีการยกเลิกระบอบการปกครองแบบศักดินาในปลายศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลาเดียวกัน เรื่องราวที่เขียนโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่น สึโบอูจิ โชโย ชื่อ โบเน็งไก (忘年会) ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ บรรยายถึงงานเลี้ยงรูปแบบนี้ ซึ่งประกอบด้วยการพูดคุยอย่างอึกทึกครึกโครม การดื่มอย่างมากมาย และเกอิชาผู้ให้ความบันเทิง[6] [7] ในญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม "ระบบการจ้างงานตลอดชีพ" ที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัทบางแห่งได้รวมเอากิจกรรมที่บริษัทจัดขึ้นจำนวนมาก โดยงานหนึ่งมักจะเป็นงานโบเน็งไกสิ้นปีในเดือนธันวาคม[6]