โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สภากาชาดไทย
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์
แผนที่
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง1873 ถนนพระรามที่ 4 แขวงปทุมวัน, เขตปทุมวัน, กรุงเทพมหานคร, ไทย
พิกัด13°43′56″N 100°32′12″E / 13.732181°N 100.536730°E / 13.732181; 100.536730
หน่วยงาน
ประเภทโรงพยาบาลสภากาชาดไทย
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย
สังกัดสภากาชาดไทย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บริการสุขภาพ
มาตรฐานAdvance HA
แผนกฉุกเฉินมี
จำนวนเตียง1,442[1]
ลานจอดเฮลิคอปเตอร์มี
ประวัติ
เปิดให้บริการ30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457; 110 ปีก่อน (2457-05-30)
ลิงก์
เว็บไซต์chulalongkornhospital.go.th

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2457 ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] เป็นที่ตั้งและที่ดำเนินการเรียนการสอนให้กับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์แห่งที่สองของประเทศไทย ต่อจากโรงพยาบาลศิริราช นอกจากนี้คณาจารย์สังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย[3]

ประวัติ

[แก้]
อาคารอำนวยการหลังแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (หน้า) อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ (หลัง-กลาง) อาคาร สก. (หลัง-ขวา)

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพร้อมด้วยพระราชภาดาและภคินี เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์[4] ด้วยเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระชนม์อยู่นั้น ได้ทรงพระราชดำริจัดตั้ง สภากาชาดไทย ซึ่งเรียกในเวลานั้นว่า สภาอุณาโลมแดง ขึ้นไว้ โดยรับการรักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ตามคติของนานาชาติที่เจริญแล้ว แต่การสภากาชาดไทยยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ ถ้าจะบริจาคทรัพย์สร้างโรงพยาบาลสภากาชาดขึ้น ก็จะเป็นพระกุศล อันประกอบด้วยถาวรประโยชน์อนุโลม ตามพระราชประสงค์แห่งองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ และเป็นเกียรติแก่ราชอาณาจักรโดยทรงพระดำริเห็นพ้องกัน บรรดาพระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบริจาคทรัพย์รวมกันเป็นจำนวนเงิน 122,910 บาท[5] สมทบกับทุนของสภากาชาด สร้างโรงพยาบาลขึ้น และพระราชทานนามตามพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์รำลึกถึงพระบรมชนกนาถ โรงพยาบาลของกาชาดนี้จึงมีนามว่า "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2457[6] ตามแจ้งความสภากาชาดสยาม ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2457[7] ได้กำหนดจุดมุ่งหมายให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลที่ดีจริงต้องตามวิทยาศาสตร์แผ่พระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวกับทั้งแพร่เกียรติยศของชาติไทย บริการรักษาพยาบาลช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ให้บริการรักษาผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ทั้งในยามสงครามและปกติ โดยยึดมั่นในปณิธานอันแน่วแน่ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั่วไป โดยไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ ลัทธิ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "...พระองค์มีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ผู้ได้สำเร็จหลักสูตรให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อออกมาช่วยเหลือประเทศชาติ..." โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นโรงเรียนแพทย์จึงได้รับการประสานงานจากรัฐบาลให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่สองของประเทศไทย โรงเรียนแพทย์แห่งใหม่นี้ถือกำเนิดในนาม "คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" จนกระทั่งมีมติให้โอนคณะที่ซ้ำซ้อนของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัยเดิมที่เป็นรากฐานของคณะนั้น ๆ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามใหม่ว่า "คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"[8]

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยให้บริการทางการแพทย์ พยาบาล ตลอดจนการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย มาใช้ศึกษาเพื่อการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยนับตั้งแต่โรงพยาบาลได้เปิดบริการ[9]และพัฒนาการรักษา พัฒนาบุคลากรทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการรักษาพยาบาลและงานวิจัย ทั้งนี้ด้วยการประสานงานกันเป็นอย่างดีระหว่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยแล้ว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยังทำหน้าที่เป็นสถานฝึกอบรมนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษาพยาบาลของสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย นิสิตคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนิสิต-นักศึกษาจากสถาบันอื่น ๆ ด้วย

การส่งเสริมพัฒนาการของโรงพยาบาล

[แก้]
ศาลาทินทัต สถานที่ติดต่อบริจาคให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นหน่วยงานในสังกัดของสภากาชาดไทยซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลไม่แสวงหาผลกำไร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนเพื่อดำเนินการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะเมื่อมีความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้โรงพยาบาลมีภารกิจหลากหลายด้านมากขึ้น เช่น ให้บริการการรักษา ร่วมกับคณะแพทย์จัดการศึกษาเพื่อผลิตแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถสู่สังคม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องสำคัญและใช้ทรัพยากรมาก ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลจึงเปิดรับความช่วยเหลือจากภาคประชาชนหลายด้าน อาทิ

การอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา

[แก้]

ประชาชนผู้บริจาคร่างกายจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาแพทยศาสตร์อย่างมาก เพราะการอุทิศร่างกายถือเป็นการสอนนิสิตแพทย์ให้เข้าใจร่างกายมนุษย์อย่างครบทุกมิติ ทำให้นิสิตแพทย์สามารถปฏิบัติหัตถการกับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ และยังเป็นการฝึกทักษะการผ่าตัดให้ชำนาญ ช่วยลดโอกาสการผิดพลาดในการทำการรักษาได้อย่างดีเยี่ยม จึงเป็นการได้ช่วยพัฒนาโรงพยาบาลทั้งด้านวิชาการและการรักษาและนอกจากจะได้ส่งเสริมการเรียนแพทย์ของนิสิต ผู้อุทิศร่างกายยังสามารถช่วยสร้างองค์ความรู้เมื่อท่านอุทิศร่างกายเพื่อการฝึกผ่าตัดและวิจัยทางการแพทย์ ผู้มีความประสงค์จะอุทิศร่างกายฯ เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดขอแบบฟอร์มพร้อมส่งแบบฟอร์มที่กรอกข้อความแล้วได้ที่ ศาลาทินทัต ด้านข้างอาคาร ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย[10]

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ ในแต่ละปีมีการเรียนการสอนหลายสาขาวิชา มีการฝึกหัดแพทย์เพิ่มพูนประสบการณ์จำนวนมาก และมีการฝึกผ่าตัดกว่า 100 ครั้งต่อปี ทำให้การศึกษาผ่านร่างอาจารย์ใหญ่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อพันธกิจและภาระงานด้านวิชาการดังกล่าว ที่จะผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ มีทักษะพร้อมออกสู่สังคมไทย ผู้อุทิศร่างกายให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงถือว่าเป็นบุคคลที่มีคุณูปการสูงยิ่งต่อวงวิชาการด้านแพทยศาสตร์และการบริการสุขภาพของประเทศไทย

ปัจจุบันการลงทะเบียนอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาแก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถทำได้ง่ายขึ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยเลือกเมนู อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา เก็บถาวร 2018-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ของฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย[11]

การบริจาคอวัยวะ

[แก้]

ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีอาการเจ็บป่วยขั้นร้ายแรงจากที่อวัยวะสำคัญไม่สามารถทำงานได้หรือทำงานผิดปกติเป็นจำนวนมาก การได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคจึงเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด อวัยวะที่สามารถบริจาคได้ ได้แก่ หัวใจ ตับ ไต ปอด ตับอ่อน กระดูก ฯลฯ ติดต่อแสดงความจำนงได้ที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 1666

มีขั้นตอนการบริจาค

[แก้]
  1. กรอกรายละเอียดในใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะให้ชัดเจน ที่อยู่ควรจะตรงกับทะเบียนบ้าน (หากต้องการให้ส่งบัตรประจำตัวไปยังสถานที่อื่น กรุณาระบุ)
  2. พิมพ์ใบแสดงความจำนงบริจาค ส่งเอกสารมายังศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ตามที่อยู่ด้านล่าง และเมื่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้รับใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะของท่านแล้ว ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ จะส่งบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะให้ตามที่อยู่ที่ได้ระบุไว้
  3. หลังจากที่ท่านได้รับบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะจากศูนย์รับ บริจาคอวัยวะฯ แล้ว อย่าลืมกรอกชื่อ และรายละเอียดการบริจาคลงในบัตร
  4. กรุณาเก็บบัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้กับตัวท่าน หากสูญหายกรุณาติดต่อกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย[12]

คุณสมบัติผู้สนใจบริจาค

[แก้]
  1. ผู้บริจาคอวัยวะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี[13]
  2. เสียชีวิตจากสภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่าง ๆ[13]
  3. ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง[13]
  4. ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา[13]
  5. อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี[13]
  6. ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอชไอวี ฯลฯ[13]
  7. จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะแก่บุคคลในครอบครัวหรือญาติให้รับทราบด้วย[13]

อาคารและสิ่งก่อสร้าง

[แก้]

ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีอาคารและสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นพระราชานุสรณ์ของบุคคลสำคัญในราชวงศ์หลายพระองค์

อาคาร ภปร.

[แก้]
อาคาร ภปร.

เนื่องจากอาคารจักรพงษ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นอาคารผู้ป่วยนอกเดิม เริ่มคับแคบลงเพราะมีผู้ป่วยเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มากขึ้นอย่างมาก ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ใน พ.ศ. 2530 และในโอกาสครบ 72 ปี แห่งการสถาปนาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ใน พ.ศ. 2529 สภากาชาดไทยจึงได้จัดสร้างอาคารผู้ป่วยนอกแห่งใหม่เพื่อเฉลิมพระเกียรติและให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่นี้ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 และมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวรทรงเป็นประธานกรรมการอุปการะฝ่ายบรรพชิตและประทานพระอุปการะในเรื่องต่าง ๆ มาตลอด อาคารแห่งใหม่นี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมแรงด้วยเหล็ก สูง 24 ชั้นเมื่อรวมชั้นใต้ดินและชั้นลอย ก่อสร้างขึ้นบริเวณหน้าตึกจักรพงษ์ มูลค่าการก่อสร้าง 400 ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารว่า "ภปร." อาคาร ภปร. เป็นจุดสังเกตที่สำคัญของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพราะตั้งอยู่บริเวณหัวมุมแยกศาลาแดงและยังมีป้ายอักษรชื่อ"โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" และตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรประดับอาคารด้วย

อาคารมงกุฎ-เพชรรัตน์ (หลังเก่า)

[แก้]
อาคารมงกุฏ-เพชรรัตน

ด้วยใน พ.ศ. 2508 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษา มีองค์กร ประชาชน ได้เฝ้าทูลเกล้าถวายเงินโดยพระอัธยาศัย จึงทรงประทานเงินสร้างตึกสำหรับผู้ป่วย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในด้านสวนลุมพินี โดยมิได้ใช้พระนามของพระองค์เป็นนามตึก เนื่องด้วยทรงพอพระทัยที่จะบำเพ็ญพระกุศลแบบปิดทองหลังพระ ต่อมาทรงเสด็จพร้อมด้วยพระธิดามาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2508 อาคารนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด "ตึกมงกุฎ-เพชรรัตน" เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 โดยมี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ในโอกาสนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเหรียญกาชาดสรรเสริญ แด่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ด้วย ในพิธีเปิด ตึกมงกุฎ-เพชรรัตน ทั้งสองพระองค์ ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์หนังสือ "ตำนานสภากาชาดสยาม" เป็นอนุสรณ์ในการเปิดตึกดังกล่าว และเพื่อให้ผู้สนใจได้ทราบประวัติความเป็นมาของสภากาชาดไท

อาคารวชิรญาณวงศ์

[แก้]
อาคารวชิรญาณวงศ์

อาคารวชิรญาณวงศ์ใช้เป็นที่รักษาพยาบาลพระภิกษุและสามเณรอาพาธ และใช้ประกอบพิธีทำบุญเลี้ยงพระ รวมถึงการเปิดรับบริจาคเงินเพื่อบำรุงพระภิกษุ และสามเณรอาพาธในเรื่องการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ ตลอดรวมถึงการรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และสำนักงานต่าง ๆ ของสภากาชาดไทย อาคารวชิรญาณวงศ์เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสี่ชั้น แบบทรงไทยประยุกต์ ได้ดำเนินการก่อสร้างมาแต่ต้น พ.ศ. 2525 และเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2526 ทดแทนอาคารหลังเก่า (ตึกวชิรญาณ) และเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์) พระราชอุปัธยาจารย์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระอุปัชฌาจารย์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึกในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2526

อาคาร อปร.

[แก้]
อาคาร อปร.

สืบเนื่องจากความไม่เพียงพอของแพทย์ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่งผลิตแพทย์เพิ่ม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างตึกใหม่ เพื่อรองรับจำนวนนิสิตแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยได้รับอนุมัติงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2536 และในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญอักษรพระปรมาภิไธย " อปร. " มาเป็นชื่ออาคาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งได้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือลงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2539 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย " อปร. " เป็นชื่ออาคาร เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเมื่อวันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2546 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 8 อาคารดังกล่าวเป็นย่อมุม 8 มุม สูง 19 ชั้น บนยอดอาคารประดับอักษรพระปรมาภิไธย " อปร. " ตั้งอยู่ริมถนนราชดำริ ลักษณะเด่นของอาคารคือมีการอัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขึ้นแสดงไว้บนผนังด้านนอกของอาคาร เป็นที่มองเห็นได้อย่างโดดเด่นข้อความว่า

ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง

ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ตัวท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์

— สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

อาคาร สก.

[แก้]
อาคาร สก.
อาคาร สก. (หน้า)

ด้วยในปีพุทธศักราช 2535 ที่ผ่านมา ในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทย ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม กอปรทั้งเมื่อครั้งมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปีพุทธศักราช 2530 วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และสภากาชาดไทยได้ร่วมกันจัดสร้าง “ ตึก ภปร. ” เป็นอาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่ของโรงพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สาธารณชนเสร็จเรียบร้อยไปแล้วอาคารหนึ่ง ด้วยเหตุทั้งสองประการนี้คณะข้าราชการบริพารร่วมกับสภากาชาดไทยจึงดำริที่จะดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกอาคารหนึ่งในพื้นที่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความจงรักภักดีที่ประชาชนชาวไทยมีอยู่อย่างมั่นคงในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้นำความกราบทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในฐานะองค์อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทยทรงเห็นชอบด้วยที่จะก่อสร้างอาคารผู้ป่วยทางกุมารเวชศาสตร์แทนอาคารรักษาพยาบาลกุมารเวชกรรมเดิม คือ “ ตึก หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ” ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมลงมาก อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานที่ยิ่งคับแคบลงเด็กผู้ป่วยอยู่กันโดยไม่ถูกต้องตามสุขลักษณะ กับทั้งเพื่อใช้เป็นศูนย์ผู้ป่วยโรคหัวใจของโรงพยาบาลด้วยอาคารที่สร้างใหม่นี้ ได้รับพระราชทานพระราชาอนุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ “ สก. ” เป็นมงคลนาม การก่อสร้างครั้งนี้ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการด้วยเงินบริจาคตลอดทั้งจำนวนโดยไม่รบกวนงบประมาณแผ่นดิน หรืองบประมาณของสภากาชาดไทยเลย เดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาจนกระทั่งบัดนี้ศรัทธาจากมหาชนผู้เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย เป็นผลให้การดำเนินงานทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความราบรื่นทุกประการ ตึก “ สก. ” สร้างเสร็จสมบูรณ์ภายในพื้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย “ ตึก ภปร. ” และ “ ตึก สก. ” ได้ประดิษฐานอยู่คู่กันเป็นนิมิตหมายแห่งพระมหากรุณาธิคุณอันมากล้นพ้นประมาณในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยเสมอมา

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์

[แก้]
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์(ขวา)

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยจัดสร้างอาคารรักษาพยาบาลใหม่ขึ้น ได้รับพระราชทานนามอาคารจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า อาคาร “ ภูมิสิริมังคลานุสรณ์” มีความหมายว่า “ อนุสรณ์ที่เป็นมงคลของสองพระองค์ (สองพระองค์ในที่นี้ คือ 'ภูมิพล' มาจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ 'สิริกิติ์' มาจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)” ตั้งอยู่ริมถนนราชดำริ ลักษณะภายในอาคารเป็นอาคารเดี่ยว 29 ชั้น ชั้นใต้ดิน 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 224,652.25 ตารางเมตร[14] ภายในอาคารนี้จะรวบรวมศูนย์ความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ เช่น ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์ผ่าตัด ศูนย์ผู้ป่วยศัลยกรรมประสาท ศูนย์บริการมารดาและทารกแรกคลอด ซึ่งในส่วนนี้จะให้บริการอย่างครบวงจรโดยจะดูแลตั้งแต่การปฏิสนธิของมารดาจนถึงการคลอด และศูนย์บริการฉุกเฉิน ห้องไอซียูเพื่อพร้อมรับสภาวะภัยพิบัติ และอุบัติภัยหมู่[15] ทั้งนี้งบประมาณในการก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์อยู่ที่ 12,500 ล้านบาท โดยงบที่ได้ในการก่อสร้างมาจากสภากาชาดไทย 2,500 ล้านบาท และจากรัฐบาล 4,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการสมทบทุนโดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นผู้เปิดโครงการสมทบทุนในครั้งนี้ ซึ่งเงินสมทบทุนที่ได้นอกจากการก่อสร้างแล้ว ยังนำไปใช้จัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้มีความทันสมัยมากขึ้นโดยรวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท[16]

เนื่องจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีแผนกในการรักษาต่าง ๆ กระจายตัวอยู่ในอาคารหลายหลังทั่วพื้นที่ในโรงพยาบาล จึงทำให้เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการบอบช้ำมากในขณะเดินทางจากอาคารหนึ่งไปอีกอาคารหนึ่ง รวมถึงทำให้เสียเวลาเป็นอย่างมากในการรักษา อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน อาคารต่าง ๆ ที่ให้บริการนั้นมีขนาดพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ต้องสร้างอาคารอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ขึ้นเพื่อรวบรวมความเป็นเลิศของศูนย์การรักษาไว้ในอาคารเดียว เมื่ออาคารหลังนี้เปิดให้บริการจะช่วยเสริมศักยภาพของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ การวิจัย และการให้บริการ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “ โรงพยาบาลชั้นนำระดับโลก ” ของประชาชนชาวไทย[17]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร “ภูมิสิริมังคลานุสรณ์” โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2562 เวลา 15.33 น. ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์

การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงรอเฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมด้วยนายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะกรรมการสภากาชาดไทย เฝ้าฯ รับเสด็จ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ประทับพระราชอาสน์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานสงฆ์ถวายศีล จบแล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การดำเนินงานจัดสร้างอาคาร “ภูมิสิริมังคลานุสรณ์” โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร “ภูมิสิริมังคลานุสรณ์”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุมไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่ออาคาร “ภูมิสิริมังคลานุสรณ์” เสร็จแล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถายอนุโมทนา ถวายอดิเรก และพระราชทานวโรกาสให้ นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ม.ร.ว.ปรียางค์ศรี วัฒนคุณ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝายการจัดหารายได้ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี, ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายการแพทย์ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โอกาสนี้ ม.ร.ว.ปรียางค์ศรี วัฒนคุณ ประธานคณกรรมการจัดหาทุนฯ กราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการะคุณ และผู้บริจาคเงินสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ เข้ารับของที่ระลึก จำนวน 15 ราย อาทิ นายแผน วรรณเมธี, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี, นายศุภกิต เจียรวนนท์, คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล, นายชาติศิริ โสภณพนิช, นายเฉลิม อยู่วิทยา เป็นต้น

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี เสด็จเข้าภายในอาคาร “ภูมิสิริมังคลานุสรณ์” ทอดพระเนตรนิทรรศการ“ ธ คู่ฟ้าภูมิสิริมังคลานุสรณ์” บริเวณชั้น 1 และทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก และพระราชทานวโรกาสให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมคณะผู้บริหารสภากาชาดไทย ผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อนเสด็จฯ กลับพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

สำหรับอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ เป็นอาคารรักษาพยาบาลรวมที่ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในอาเซียน ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นมงคลอนุสรณ์ถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสและบรมราชาภิเษกปีที่ 66 อีกทั้งในวโรกาสมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 70 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา และทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทยเป็นปีที่ 60 โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ใช้ชื่ออาคารว่า “อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์” ซึ่งมีความหมายว่า “อนุสรณ์ที่เป็นมงคลของสองพระองค์” โดยเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา[18]

อาคาร ส.ธ.

[แก้]
อาคาร ส.ธ.

ด้วยนโยบายส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้จัดสร้างอาคารสำหรับดูแลผู้สูงวัยแบบบูรณาการขึ้น โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่ออาคารนี้ว่า "อาคาร ส.ธ." ภายใต้โครงการ "กองทุน ส.ธ. เพื่อผู้สูงวัย" เพื่อเป็นศูนย์การแพทย์ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการครบวงจรของสภากาชาดไทยขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา และเพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในผู้สูงวัย รวมถึงฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ ให้ความรู้แก่ผู้ดูแลด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสม[19]

อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์

[แก้]

อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ หรือเดิมคือโครงการศูนย์บูรณาการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นส่วนต่อขยายทางทิศเหนือของอาคาร ภปร. เพื่อเพิ่มพื้นที่และเชื่อมโยงการให้บริการแก่ผู้ป่วยนอก ได้รับพระราชทานนามอาคารจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระรามาธิบดินทรราชา รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์"[20] และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มาทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567[21] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร "จักรีทศมรามาธิบดินทร์" ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ มีความสูงเหนือดิน 15 ชั้น ใต้ดิน 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 36,850 ตารางเมตร[22] ภายในประกอบด้วยคลินิกบางส่วนที่ย้ายมาจากอาคาร ภปร.[23] และศูนย์อาหาร[24]

วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๗ เวลา ๑๗.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พร้อมด้วยนายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย รองศาสตราจารย์นายแพทย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะกรรมการสภากาชาดไทย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ เป็นอาคารสูง ๑๕ ชั้น และมีชั้นใต้ดิน ๔ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ ๕๐,๐๐๐ ตารางเมตร ตั้งอยู่ระหว่างอาคาร ภปร และอาคาร สก. โดยเชื่อมต่อกับอาคาร ภปร ซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วยนอกอาคารหลักของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มากว่า ๓๐ ปี อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ก่อสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่และขยายการให้บริการผู้ป่วยนอก เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น มุ่งให้บริการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและครบวงจร โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริการผู้ป่วย เช่น หุ่นยนต์จ่ายยา หุ่นยนต์ลงทะเบียนและคัดกรองอาการ และการผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในขั้นตอนการบริการต่างๆ กำหนดพื้นที่ในการคัดกรองโรคติดต่ออย่างเป็นระบบ มีพื้นที่รอคอยที่สวยงาม สะดวกสบาย เป็นต้นแบบการบริบาลผู้ป่วยนอกของประเทศและยกระดับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสู่สากล

อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ แห่งนี้ ยังเป็นสัญลักษณ์ในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในการบำบัดโรคภัย ให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนถ้วนหน้าเสมอกัน ตลอดจนเชิดชูเกียรติแห่งกรุงสยามให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ และสอดคล้องกับหลักการดำเนินการของสภากาชาดไทยที่ให้บริการแก่ประชาชนทุกระดับด้วยความเสมอภาค ด้วยความยึดมั่นว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นโรงพยาบาลเพื่อปวงชน ที่มุ่งมั่นให้การรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด ด้วยความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และเอื้ออาทร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารแห่งนี้ ว่า อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ มีความหมายว่า อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระรามาธิบดินทรราชา รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การดำเนินงานจัดสร้างอาคาร จักรีทศมรามาธิบดินทร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่ออาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์

การนี้ นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เหรัญญิกสภากาชาดไทย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย กราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณและผู้บริจาคเงินสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานของที่ระลึก

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ซึ่งน้อมนำมาจากพระปฐมบรมราชโองการ ประกอบด้วยนิทรรศการ ๓ ส่วนดังนี้

ส่วนที่ ๑ “สืบสาน” ณ ตึกวชิรุณหิศ จัดแสดงเรื่องราวในอดีตตั้งแต่การก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๕๗ และพัฒนาการงานบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถึงปัจจุบัน

ส่วนที่ ๒ “รักษา” ณ อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ ชั้น ๑ บอกเล่าเรื่องราวปัจจุบันที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัย พร้อมทั้งจัดแสดงความสำเร็จของโครงการ “แสงแห่งความหวัง” โครงการรักษาพยาบาลด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ประกอบด้วย ๑.) การรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน ๗๒ ราย ๒.) การผ่าตัดโรคเนื้องอกในช่องอกและช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ๗๒ ราย ๓.) การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ๓๖ ราย และ ๔.) การรักษาโรคทางกระจกตาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ๓๖ ราย ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ใช้เทคโนโลยีอันซับซ้อน เข้าถึงได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง หายขาดจากโรคด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี

ส่วนที่ ๓ “ต่อยอด” ณ อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ ชั้น ๒ จัดแสดงการก้าวไปสู่อนาคตโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการบริการผู้ป่วย ประกอบด้วย หุ่นยนต์จ่ายยา หุ่นยนต์ลงทะเบียนและคัดกรอง หุ่นยนต์ช่วยรักษามะเร็งไทรอยด์ และการผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบ ในขั้นตอนการบริการต่างๆ และการปรับขั้นตอนบริการเพื่อให้ครบวงจรในจุดเดียวโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องประทับรับรองชั้น ๑๔ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก พร้อมฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และคณะผู้บริหารสภากาชาดไทย ผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และผู้มีอุปการคุณ สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ [25]

อาคารมงกุฎ-เพชรรัตน์ (หลังใหม่)

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารศูนย์วิจัยและนวัตกรรมงานบริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ว่า “อาคารมงกุฎ-เพชรรัตน” (อา-คาน-มง-กุด-เพ็ด-ชะ-รัด) ความหมาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดา

อาคารแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างอาคาร ส.ธ. ฝั่งถนนราชดำริ เพื่อใช้เป็นอาคารที่รวมของศูนย์วิจัย ห้องปฏิบัติการและสร้างนวัตกรรมงานบริการ อันเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณชน[26]

ผู้อำนวยการโรงพยาบาล

[แก้]

ตามข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และสภากาชาดไทย ใน พ.ศ. 2490 ให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นบุคคลคนเดียวกันแต่แยกการบริหารออกเป็น 2 หน่วยงาน แม้ว่าคณะแพทยศาสตร์จะถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้อตกลงนี้ยังคงใช้ปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน รายนามผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีดังนี้

ทำเนียบผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. พลตรี พระยาวิบุลอายุรเวท (เสข ธรรมสโรช)[27] 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 - 18 กันยายน พ.ศ. 2460
2. ศาสตราจารย์อุปการคุณ พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์) 19 กันยายน พ.ศ. 2460 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2492
3. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หลวงพรหมทัตตเวที (ไหมพรม ศรีสวัสดิ์) 17 กันยายน พ.ศ. 2492 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2497
4. ศาสตราจารย์ พันเอก นายแพทย์ หลวงประกิตเวชศักดิ์ (แก้ว บำรุงชีพ) 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2503
5. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2509
6. ศาสตราจารย์อุปการคุณ พันตรี นายแพทย์ ทวี ตุมราศวิน 1 เมษายน พ.ศ. 2509 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2516
7. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ สมัค พุกกะณะเสน 20 มีนาคม พ.ศ. 2516 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2520
8. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ศริพร วณิเกียรติ 30 มีนาคม พ.ศ. 2520 - 1 มีนาคม พ.ศ. 2524
9. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยาใจ ณ สงขลา 1 มีนาคม พ.ศ. 2524 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528
10. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา 11 มีนาคม พ.ศ. 2528 - 9 มกราคม พ.ศ. 2532
11. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรเทอง รัชตะปีติ 10 มีนาคม พ.ศ. 2532 - 9 มกราคม พ.ศ. 2536
12. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ศุภวัฒน์ ชุติวงศ์ 9 มกราคม พ.ศ. 2536 - 9 มกราคม พ.ศ. 2540
13. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปรีดา ทัศนประดิษฐ์ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2540 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542
14. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 - 30 กันยายน พ.ศ. 2550
15. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อดิศร ภัทราดูลย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 - 30 กันยายน พ.ศ. 2554
16. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ โศภณ นภาธร 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 - 30 กันยายน พ.ศ. 2558
17. ศาสตราจารย์ นาวาอากาศตรี นายแพทย์ สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 - 30 กันยายน พ.ศ. 2564
18. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

การเดินทาง

[แก้]
ทางเดินใต้ทางวิ่งรถไฟฟ้า (Sky Walk) เชื่อมสถานีรถไฟฟ้ามหานครสีลมและรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดง
การเดินทางด้วยรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาย 3

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งอยู่ใจกลางเขตธุรกิจของกรุงเทพมหานคร เช่น ย่านถนนสีลม แยกสามย่าน ย่านถนนพระรามที่ 4 จึงมีระบบขนส่งมวลชนหลายรูปแบบที่ให้บริการ การเดินทางมายังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ดังนี้

รางวัล

[แก้]
ปี รางวัล สาขา ผล
2566 Thailand Zocial Awards 2023[28] Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจบริการทางการแพทย์ ชนะ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Gishealth.moph.go.th. (2022). ระบบสารสนเทศภฺมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพ - เครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย. [online] Available at: http://gishealth.moph.go.th/healthmap/infoequip.php?maincode=13756 เก็บถาวร 2022-03-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [Accessed 28 Dec. 2022].
  2. ราชกิจจานุเบกษา. “พระราชดำรัสตอบในการเปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ .” เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา. 14 มิถุนายน 2457. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/567.PDF (29 พฤษภาคม 2559 ที่เข้าถึง).
  3. ราชกิจจานุเบกษา. “ พระราชกฤษฎีกาเลิกล้มคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๐.” เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา. 29 ธันวาคม 2510. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2510/A/127/14.PDF (29 พฤษภาคม 2559 ที่เข้าถึง).
  4. แจ้งความสภากาชาดสยาม เรื่องเปิดโรงพยาบาล ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2457
  5. หนังสืออานันทฯ แพทยาลัย.เข้าถึงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2559
  6. "พระราชดำรัสตอบในการเปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-06. สืบค้นเมื่อ 2021-10-11.
  7. แจ้งความสภากาชาดสยาม เรื่องเรี่ยไรเงินจากสมาชิกก่อสร้างโรงพยาบาล ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗
  8. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้างและเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปเป็นของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๐. 28 ธันวาคม 2510. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2510/A/126/5.PDF เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (28 เมษายน 2559 ที่เข้าถึง).
  9. แจ้งความสภากาชาดสยาม เรื่องชักชวนบุคคลให้ทำการตรวจค้นในทางแพทยศาสตร์
  10. ภาควิชากายวิภาคศาสตร์,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. ประกาศโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เรื่อง การรับอุทิศร่างกาย ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อการศึกษาการวิจัยและการรักษาทางการแพทย์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-03. สืบค้นเมื่อ 2018-09-29.
  12. สภากาขาดไทย, บริจาคอวัยวะ รายละเอียดการบริจาคอวัยวะ เก็บถาวร 2016-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 13.6 Redcross.or.th. (2016). การรับอุทิศร่างกาย ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อการศึกษา การวิจัย และการรักษาทางการแพทย์ | Welcome to The Thai Red Cross Society. [online] Available at: https://www.redcross.or.th/page/50113 [Accessed 3 Dec. 2017].
  14. "อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์." Plan consultants. Accessed April 20, 2017. http://plan-consultants.com/?post_type=projects&p=3876.
  15. "รพ.จุฬาฯ เปิด ‘อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์’ มิติใหม่แห่งการให้เพื่อทุกชีวิต เพื่อประชาชนทุกชนชั้น". 2017. Hfocus.Org. https://www.hfocus.org/content/2017/07/14301.
  16. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. โครงการก่อสร้างอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. 20 มกราคม 2559 http://www.chulalongkornhospital.go.th/ecc/index.php/2016-01-18-07-07-03 เก็บถาวร 2016-03-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (3 พฤษภาคม 2559 ที่เข้าถึง).
  17. ไทยรัฐฉบับพิมพ์. "ราคา "ติดดิน"-บริการ "พรีเมียม" : รพ.จุฬาลงกรณ์เปิด "อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์" อัพเกรดการรักษา." Www.thairath.co.th. January 18, 2016. Accessed May 23, 2017. http://www.thairath.co.th/content/564363.
  18. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88-%E0%B8%AF-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%A3/
  19. http://www.redcrossfundraising.org/th/html/project2.aspx?ContentID=2511&CategoryID=10
  20. "นามอาคารศูนย์บูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย". โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย.
  21. "ในหลวง พระราชินี ทรงเปิดอาคาร 'จักรีทศมรามาธิบดินทร์' โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์". โพสต์ทูเดย์. 17 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  22. "รพ.จุฬาฯระดมบุญ สร้างตึกผู้ป่วยนอก". www.thairath.co.th. 2022-06-06.
  23. "ย้ายบริการคลินิกฯ". โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย.
  24. "ประกาศการเปิดบริการศูนย์อาหารอาคารผู้ป่วยนอก (หลังใหม่)". โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย.
  25. https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid027RDKNqRVogRmyzf2nftd9HH7Nhrj4jufPYnGKD6iNg9dp4Q2v7viPcrS9YTyp6HSl&id=100083229104120
  26. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/poster/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95/#:~:text=%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%2520%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0,%E0%B8%93%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B5%2520%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%B2
  27. ราชกิจจานุเบกษา. “คำกราบบังคมทูล ในการเปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ .” เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา. 14 มิถุนายน 2457. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/563.PDF (28 พฤษภาคม 2559 ที่เข้าถึง).
  28. "ประกาศผล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 แบรนด์และผู้ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียลยกทัพร่วมงานคับคั่ง". ไทยรัฐ. 2023-02-24. สืบค้นเมื่อ 2023-02-25.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]