โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ละติน: The Prince Royal's College under the Royal Patronage of Her Royal Highness Princess Bejaratana Rajasuda
The Prince Royal's College
ที่ตั้ง
แผนที่
117 ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50000
ข้อมูล
ชื่ออื่นโรงเรียนชายวังสิงห์คำ
ป.ร. (P.R.C.)
ประเภทโรงเรียนเอกชน
โรงเรียนโปรเตสแตนต์
คติพจน์LUX ET VERITAS
"แสงสว่างและความจริง"
ศาสนาคริสต์
นิกายโปรเตสแตนต์
สถาปนา• 2 มกราคม พ.ศ. 2449 (โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่)
ผู้ก่อตั้งศาสนาจารย์ เดวิด คอลลินส์
โรงเรียนพี่น้องโรงเรียนดาราวิทยาลัย
เขตการศึกษาเชียงใหม่
ผู้อำนวยการผู้ปกครอง ดร.เกรียง ฐิติจำเริญพร
สี   น้ำเงิน-ขาว
เพลงเพลงประจำโรงเรียน
สังกัดสำนักงานพันธกิจการศึกษา มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย
เว็บไซต์www.prc.ac.th

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (ย่อ: ป.ร.) เป็นโรงเรียนสหศึกษาของเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 3 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 1 สังกัดสำนักงานพันธกิจการศึกษา มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย โรงเรียนก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2430 ในชื่อ "โรงเรียนชายวังสิงห์คำ" โดย ศาสนาจารย์ ชาวอเมริกัน เดวิด คอลลินส์ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามโรงเรียนเป็น "โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย" ซึ่งมีความหมายว่า "โรงเรียนของเจ้าชาย" เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449

ประวัติ

[แก้]

โรงเรียนชายวังสิงห์คำ

[แก้]

โรงเรียนก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2430 โดยมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ศาสนาจารย์ เดวิด คอลลินส์ ในชื่อ "Chiangmai Boys' School" หรือ "โรงเรียนชายวังสิงห์คำ" บริเวณหมู่บ้านวังสิงห์คำ อันเป็นที่ดินซึ่งได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์[1] ทำการสอนโดยใช้ภาษาล้านนาและพระคัมภีร์เป็นหลัก เป็นโรงเรียนแบบตะวันตกสำหรับเด็กชายแห่งแรกในล้านนา[2]

ในปี พ.ศ. 2442 ศาสนาจารย์คอลลินส์ได้ลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ ศาสนาจารย์ ดร. วิลเลียม แฮรีส ซึ่งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 เข้ารับตำแหน่งแทน เมื่อเห็นว่าสถานที่ตั้งของโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำปิงคับแคบ จึงได้ย้ายมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ซึ่งซื้อจากบริษัทอังกฤษในราคา 2,600 รูปี[1]

ก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]

วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า "The Prince Royal's College" และพระราชทานสีน้ำเงิน - ขาวให้เป็นสีประจำโรงเรียน ปีเดียวกันนั้น ศาสนาจารย์แฮรีสได้ซื้อที่ดินติดกับโรงเรียนเพิ่มอีก 71 ไร่ รวมมีพื้นที่ 90 ไร่ โดยปัจจุบัน มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นเจ้าของและผู้รับใบอนุญาต[1]

ในปี พ.ศ. 2455 ได้เริ่มใช้ภาษาไทยในการสอนแทนคำเมือง ตามการสนับสนุนการใช้ภาษาไทยกลางของรัฐบาล[3] ตลอดจนการสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนได้รับรองฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลในปี พ.ศ. 2464[2]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทางโรงเรียนได้ปิดการเรียนการสอน[4] รัฐบาลได้ยึดโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยใช้เป็นโรงเรียนสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในชื่อ "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพ"[2] หลังสงครามสิ้นสุด โรงเรียนจึงได้เปิดทำการอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ได้เสด็จเยือนโรงเรียน

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2458 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เสด็จเยือนโรงเรียน

เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2471 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานทำพิธีเปิดอาคาร Powers Hall

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

[แก้]

ในช่วงที่อาจารย์หมวก ไชยลังการณ์เป็นอาจารย์ใหญ่ ทางโรงเรียนได้จัดตั้ง "แผนกสหเตรียมอุดมศึกษาปรินส์ - ดารา" ขึ้นในระดับมัธยมศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2499 อันเป็นจุดเริ่มต้นของชั้นเรียนแบบสหศึกษาของโรงเรียน[2]

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนและทรงลงพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมโรงเรียน มีข้อความว่า "รู้สึกยินดีที่เชียงใหม่มีโรงเรียนดี ๆ ที่สง่างามและมีบริเวณกว้างขวาง ยินดีที่มีโอกาสพบครูที่ดีมีน้ำใจ อุตส่าห์สั่งสอนเด็กด้วยใจรักเป็นเวลานาน ขอให้ครูทุกท่านจงช่วยกันสั่งสอนเด็กเถิด เป็นบุญเหลือหลายที่ได้ช่วยเหลือเยาวชนของชาติ ยินดีที่เห็นเด็กนักเรียนทุกคนเรียบร้อย ได้อยู่ในโรงเรียนดี มีบริเวณงามมาก"

เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2529 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระอุปถัมภ์และพระราชทานนามอาคารว่า "อาคารเพชรัตน์-สุวัฒนา"

แต่เดิมที่เคยรับสมัครเฉพาะนักเรียนชาย แต่นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้เปิดเป็นแบบสหศึกษา และในปี พ.ศ. 2536 ได้รับสมัครนักเรียนหญิงระดับชั้นอนุบาล 3 เป็นปีแรก[2] ทางโรงเรียนได้จัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการพระราชทานนามโรงเรียน โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และวันที่ 3 มกราคม 2549[5]

ผู้จัดการ อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการ

[แก้]
ลำดับ รายนามผู้จัดการ/อาจารย์ใหญ่/ผู้อำนวยการ ตำแหน่ง ระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง (นับจากปีการศึกษา) รวม(ปี) หมายเหตุ
1 ศาสนาจารย์ เดวิด กอร์มเลย์ คอลลินส์ อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2430 - พ.ศ. 2442 12
2 ศาสนาจารย์ ดร.วิลเลียม แฮรีส อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2442 - พ.ศ. 2482 40
3 ศาสนาจารย์ ดร.เคนเนธ เอลเมอร์ แวลส์ อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2483 - พ.ศ. 2484 2 พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2488 ได้เว้นระยะไปเนื่องด้วยเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ผู้จัดการ พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2493 4
4 อาจารย์หมวก ไชยลังการณ์ อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2491 2
ผู้จัดการ / อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2494 - พ.ศ. 2510 16
5 อาจารย์กำราบ ไชยาพันธ์ รักษาการอาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2492 - พ.ศ. 2494 2
ผู้จัดการ / อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2512 2
6 อาจารย์ ดร.จำรูญ ไชยลังการณ์ ผู้จัดการ / อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2533 20
7 อาจารย์ พงษ์ ตนานนท์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2548 14
8 ผู้ปกครอง ดร.สิริลักษณ์ เฟื่องกาญจน์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2554 6
9 คุณถวิล กัลชาญพิเศษ รักษาการผู้จัดการ พ.ศ. 2551 1
10 ผู้ปกครองสมบูรณ์ ปัญญาพฤกษ์ ผู้จัดการ พ.ศ. 2552 1
11 คุณสเปญ จริงเข้าใจ ผู้จัดการ พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2558 5
12 ผู้ปกครอง ดร.สิรินันท์ ศรีวีระสกุล ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2555 - พ.ศ. 2564 10
ผู้จัดการ พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2564 6
13 ผู้ปกครอง ดร.เกรียง ฐิติจำเริญพร ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน ยังอยู่ในวาระ
ผู้จัดการ พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน ยังอยู่ในวาระ

โครงการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษ

[แก้]

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยได้รับเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติให้เป็นโรงเรียนเครือข่ายในการจัดการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้จัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้วยรูปแบบที่เหมาะสม[6]

ระดับประถมศึกษา

[แก้]
  • English Excellence Program (EEP): เน้นการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยมีครูชาวต่างชาติและครูไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารและความเข้าใจในภาษาอังกฤษของนักเรียน .​
  • Science & Mathematics Excellence Program (SMEP): เป็นหลักสูตรที่ร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักเรียน .​
  • Technology Excellence Program (TEP): ส่งเสริมอัจฉริยภาพด้านเทคโนโลยี โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงในการออกแบบและสร้างสรรค์งานด้านเทคโนโลยี เช่น การเขียนโปรแกรม การพัฒนาเกม และการสร้างสรรค์งานศิลปะดิจิทัล .
  • SMEP+ และ TEP+: เป็นหลักสูตรที่รวมความเข้มข้นของ EEP กับ SMEP หรือ TEP เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษควบคู่กับความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือเทคโนโลยี โดยมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในหลายวิชา .​

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

[แก้]
  • English Excellence Program (EEP): เน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้น เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารและความเข้าใจในภาษาอังกฤษของนักเรียน
  • Science & Mathematics Excellence Program (SMEP): มุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักเรียน
  • Mathematics Excellence Program (MEP): เน้นการพัฒนาศักยภาพทางคณิตศาสตร์ โดยให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ผ่านการเรียนรู้ที่หลากหลาย
  • Technology Excellence Program (TEP): ส่งเสริมอัจฉริยภาพด้านเทคโนโลยี โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงในการออกแบบและสร้างสรรค์งานด้านเทคโนโลยี เช่น การเขียนโปรแกรม การพัฒนาเกม และการสร้างสรรค์งานศิลปะดิจิทัล

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

[แก้]
  • Science & Mathematics Excellence Program (SMEP): มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักเรียนในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการสืบเสาะหาความรู้และการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
  • Mathematics Excellence Program (MEP): เน้นการพัฒนาศักยภาพทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน โดยให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ผ่านการเรียนรู้ที่หลากหลาย
  • Science of Integrated Innovation (SII): เป็นโปรแกรมที่เน้นการบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง
  • Engineering in Robotics and Automation (ERA): มุ่งเน้นการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี​
  • Digital Art and Games (DAG): เน้นการพัฒนาทักษะด้านศิลปะดิจิทัลและการออกแบบเกม เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และการใช้เทคโนโลยีในงานศิลปะ
  • English Excellence Program (EEP): เป็นหลักสูตรที่มีการบูรณาการภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารและความเข้าใจในภาษาอังกฤษของนักเรียน โดยมีการเรียนการสอนโดยครูชาวต่างชาติและครูไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการสอนภาษาอังกฤษ

Go Beyond Academy

[แก้]

โครงการเสริมหลักสูตรพิเศษของ PRC ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้เพิ่มเติมนอกเวลาเรียนปกติ (เช่น ช่วงปิดภาคเรียนหรือหลังเลิกเรียน) ตามความสนใจและความถนัดของตนเอง โดยมีหลักสูตรระยะสั้นหลากหลายสาขาให้เลือก เช่น ด้านวิชาการ ภาษา ศิลปะ กีฬา หรือทักษะอาชีพ ทั้งนี้โรงเรียนจะเปิดรับสมัครเป็นช่วงๆ ในแต่ละปีการศึกษา (เช่น ภาคเรียนที่ 2 ปี 2566 เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 5–18 ตุลาคม 2566)​ โครงการนี้มีเป้าหมายให้ผู้เรียน “Go Beyond” ขีดความสามารถเดิมของตน และค้นพบศักยภาพใหม่ๆ อย่างเต็มที่[7]

กิจกรรม

[แก้]

ลูกเสือ

[แก้]

พ.ศ. 2456 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยได้รับอนุญาตให้ตั้งลูกเสือกองที่ 5 มณฑลพายัพ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น "กองลูกเสือมณฑลพายัพที่ 3 ปรินส์รอยแยลส์คอลเลซ" ในอีกสองปีถัดมา ในปี พ.ศ. 2539 ผู้บริหารและผู้บังคับบัญชากองลูกเสือของโรงเรียนมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ และได้รับการแต่งตั้งกองลูกเสือเป็น "กองลูกเสือเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งประเทศสวีเดน โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย"[8] นับเป็นกองลูกเสือกองเดียวในโลก ทั้งยังได้รับพระราชทานธงประจำกองลูกเสือและเครื่องหมายกองลูกเสือพระมหากษัตริย์สวีเดน และมีตราประจำพระองค์อยู่กลางเครื่องหมาย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน ได้เสด็จเยี่ยมกองลูกเสือเกียรติยศในพระองค์ของโรงเรียน[8] นอกจากนี้ โรงเรียนยังจัดตั้งกองลูกเสืออาสา กกต. เพื่อประชาธิปไตย ด้วยการสนับสนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถือเป็นกองลูกเสือของโรงเรียนเอกชนกองแรกในประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและการเลือกตั้งโดยสุจริต[8]

เศรษฐกิจพอเพียง

[แก้]

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยมีกิจกรรมเด่นในด้านเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ชื่อกิจกรรม "ออมเพื่อการลงทุน" โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนสามารถนำเงินที่ได้จากการออมไปใช้ในการลงทุนได้[9] นอกจากนี้ โรงเรียนยังให้การศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงในโครงการโรงเรียนต้นแบบ เงินทองของมีค่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินการโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีทั้งการจัดกิจกรรม "จ้างฮิ จ้างหา ปายหน้าสบาย" "1 คน 1 อาชีพ" และ "ธนาคารขวด" ซึ่งทำให้เครือข่ายโรงเรียนพอเพียงขยายไปอีก 10 โรงเรียนแล้วในจังหวัดเชียงใหม่[10]

กรีฑาสีประจำปี

[แก้]

กรีฑาสีจัดขึ้นทุกปี แบ่งเป็น 6 สี ได้แก่ สีแดง เหลือง เขียว แสด ฟ้า และ ม่วง แบ่งเป็นกรีฑาสีระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในปัจจุบันทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมดังกล่าวที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ในระดับมัธยมศึกษา ส่วนระดับประถมศึกษาจะจัดภายในสนามฟุตบอลของโรงเรียน ซึ่งก่อนหน้านั้นทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี และปัจจุบันทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมกรีฑาสีที่สนามกรีฑาของโรงเรียน

งานวันสำคัญและเทศกาล

[แก้]

โรงเรียนจัดกิจกรรมในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ เพื่อปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่ดีแก่นักเรียน ตัวอย่างเช่น กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งมักจัดควบคู่กับงานวันวิชาการช่วงต้นเดือนมกราคมของทุกปี ในกิจกรรมดังกล่าวจะมีฐานการเรียนรู้และเกมการศึกษาให้นักเรียนได้ร่วมสนุกและแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของตนเอง ตั้งใจใฝ่เรียนรู้ และประพฤติตนอย่างมีระเบียบวินัยตามจิตวิญญาณ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม คริสต์มาส ที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปีในฐานะโรงเรียนคริสเตียน รวมถึงพิธี ไหว้ครู ในช่วงเปิดภาคเรียนเพื่อให้นักเรียนแสดงความกตัญญูต่อคุณครู เป็นต้น

กิจกรรมวิชาการ (Academic Activities)

[แก้]
  • กิจกรรมวันวิชาการและนิทรรศการการเรียนรู้: โรงเรียนจัดงานวิชาการเป็นเวทีให้นักเรียนได้แสดงผลงานและความสามารถทางวิชาการในรูปแบบที่สนุกสนานควบคู่ไปกับวันเด็ก ตัวอย่างเช่น งานวันเด็กและวันวิชาการของระดับประถมศึกษาปีที่ 1–3 ที่มีการจัดฐานการเรียนรู้แบบบูรณาการในกลุ่มสาระต่างๆ และกิจกรรม “PRC ครอบครัว” เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองมีส่วนร่วม สร้างบรรยากาศการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างเพลิดเพลิน​กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือทำและนำเสนอความสามารถของตนอย่างเต็มที่
  • การแข่งขันทักษะทางวิชาการ: นักเรียน PRC เข้าร่วมแข่งขันทางวิชาการในหลายสาขาอยู่เสมอ เช่น การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ การแข่งขันคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ การโต้วาทีภาษาอังกฤษ ตลอดจนการแข่งขันด้านภาษาและวัฒนธรรม เช่น การแข่งขันทักษะภาษาจีนที่ร่วมกับสถาบันขงจื่อ มช. (หัวข้อ “รักภาษาจีน ฝันประเทศจีน”) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนจากการสนับสนุนของโรงเรียน นักเรียน PRC มักประสบความสำเร็จได้รับรางวัลในการแข่งขันต่าง ๆ อยู่เสมอ
  • กิจกรรมแนะแนวและส่งเสริมการศึกษาต่อ: โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมแนะแนวการศึกษาต่อและอาชีพให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา เช่น กิจกรรม Open House แนะนำหลักสูตรพิเศษ (เช่น หลักสูตร STEP หรือ Science & Technology) เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองรับทราบข้อมูลเตรียมตัวเข้าสู่ช่วงมัธยมปลาย รวมถึงโครงการเรียนรู้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการแก่นักเรียนที่สนใจเป็นพิเศษ

กิจกรรมกีฬา (Sports Activities)

[แก้]
  • การแข่งขันกีฬาภายในและระหว่างโรงเรียน: นอกจากกรีฑาสีระดับโรงเรียน PRC ยังส่งเสริมให้มีกิจกรรมกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน เช่น การแข่งขันกีฬาเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างห้องเรียนในระดับประถม ที่จัดแข่งขันฟุตบอล (ชาย) และแชร์บอล (หญิง) เพื่อสร้างความสามัคคีและฝึกน้ำใจนักกีฬาให้เด็กๆ รวมทั้งรู้จักการเป็นผู้ชนะและผู้แพ้อย่างมีน้ำใจ​นอกจากนี้ โรงเรียนยังสนับสนุนให้นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระหว่างโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเลย์บอล บาสเกตบอล เทนนิส แบดมินตัน ฯลฯ ซึ่งหลายครั้งนักเรียน PRC ทำผลงานโดดเด่นในระดับจังหวัดและประเทศ
  • ทีมรักบี้ฟุตบอลของโรงเรียน: กีฬาที่โดดเด่นชนิดหนึ่งของ PRC คือรักบี้ฟุตบอล โรงเรียนมีการฝึกซ้อมและส่งทีมรักบี้เข้าชิงชัยในรายการใหญ่ระดับประเทศอยู่เสมอ ในปี 2567 ทีมนักกีฬารักบี้ฟุตบอลรุ่นอายุไม่เกิน 16 ปีของ PRC คว้า รางวัลชนะเลิศประเภท 7 คนชาย ระดับภาคเหนือ ในการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย (จัดโดยสมาคมรักบี้ฯ) เมื่อวันที่ 23–25 สิงหาคม 2567ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนอย่างมาก (นอกจากนี้ในรุ่นอื่นๆ เช่น รุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี และระดับการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ทีมรักบี้ PRC ก็เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับต้นๆ เช่นกัน)
  • การใช้สนามกีฬาและกิจกรรมพิเศษ: PRC มีสนามกีฬาและโรงยิมที่ได้มาตรฐาน (PRC Gymnasium 2000 และสนามกรีฑา) ซึ่งไม่เพียงใช้ในการเรียนการสอนพละศึกษาและจัดแข่งกีฬาของโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังเคยใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อมของนักกีฬาระดับชาติ (เช่น ทีมฟุตบอลชาติไทย “ช้างศึก” เคยมาฝึกซ้อมที่สนาม PRC) รวมถึงใช้จัดกิจกรรมกีฬาพิเศษเพื่อการกุศล เช่น การวิ่ง “เพื่อโบสถ์นี้ที่เรารักษ์” ซึ่งจัดในปี 2560 เพื่อหารายได้บูรณะโบสถ์ของโรงเรียน​

กิจกรรมดนตรีและศิลปะ (Music & Arts Activities)

[แก้]
  • วงดนตรีและการประกวดดนตรี: PRC มีชื่อเสียงด้านดนตรี โรงเรียนมีวงดุริยางค์ (Concert Band) และวงออร์เคสตร้าของตนเอง รวมทั้งชมรมการแสดงพื้นบ้านล้านนา โดยนักเรียนได้ร่วมกันฝึกซ้อมและจัดแสดงในงานสำคัญอยู่เสมอ นอกจากงานราตรีเพลินเพลงที่กล่าวถึงแล้ว ในแต่ละปีจะมีการจัดคอนเสิร์ตและการแสดงดนตรีหลายรูปแบบ เช่น “The Emotion of Music” ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตชุดของวงดุริยางค์และวงเครื่องสาย PRC ร่วมกับชมรมศิลปะพื้นบ้านล้านนา จัดเป็นประจำต่อเนื่อง (ปัจจุบันถึงชุดที่ 22 แล้ว) เพื่อแสดงผลงานทางดนตรีของนักเรียนและครู กิจกรรมเหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้นักเรียนที่มีความสามารถด้านดนตรีได้พัฒนาศักยภาพและกล้าแสดงออก
  • การแสดงศิลปะและละครเวที: โรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมด้านนาฏศิลป์และศิลปะการแสดงหลากหลายรูปแบบ นักเรียนได้มีเวทีแสดงออกทั้งในการแสดงละครสั้น การเต้น และการละเล่นพื้นเมืองในงานโรงเรียนและงานชุมชน นอกจากนี้ยังมีการจัด PRC Music Showcase ทุกภาคการศึกษา ที่สถาบันดนตรีแฮรีส (อาคาร 100 ปี) เพื่อแสดงความสามารถของนักเรียนในวงดนตรีและวงออร์เคสตร้าต่อผู้ปกครองและสาธารณชน​รวมถึงการจัดนิทรรศการผลงานทัศนศิลป์ของนักเรียนในหัวข้อต่าง ๆ เมื่อสิ้นปีการศึกษา
  • ชมรมสื่อและศิลปะสร้างสรรค์ (Media Arts Club - MAC): PRC มีชมรมสื่อศิลปะที่ให้นักเรียนผลิตสื่อสร้างสรรค์ เช่น ภาพยนตร์สั้น สารคดี หรือรายการออนไลน์เพื่อเผยแพร่ผลงานในเว็บไซต์ของโรงเรียน ตัวอย่างโครงการที่ดำเนินการ เช่น PRC English Website Broadcast ที่สมาชิกชมรม MAC ทำหน้าที่เป็น Junior & Senior Interpreters สร้างสรรค์วิดีโอสองภาษาเผยแพร่ข่าวสารและความรู้ เช่น วิดีโอเรื่อง “มาตรฐานความงามกับผลกระทบต่อสังคม” หรือ “ศิลปะสมัยใหม่คืออะไรและทำไมถึงมีราคาสูง” เป็นต้น​กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนฝึกทักษะการสื่อสาร ภาษาต่างประเทศ และความคิดสร้างสรรค์ด้านสื่อไปพร้อมกัน

กิจกรรมเพื่อสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ (Social Responsibility Activities)

[แก้]
  • กิจกรรมจิตอาสาและบริการชุมชน: โรงเรียนปลูกฝังให้นักเรียนมีจิตสาธารณะ โดยจัดและสนับสนุนกิจกรรมอาสาบำเพ็ญประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนอยู่เสมอ เช่น การไปเยี่ยมบ้านพักคนชรา สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า การร่วมบริจาคโลหิตกับสภากาชาด และกิจกรรมทำความสะอาดชุมชนรอบโรงเรียน นอกจากนี้นักเรียนยังเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ ในโอกาสสำคัญ เช่น วันสิ่งแวดล้อมไทย วันต่อต้านยาเสพติด เป็นต้น โดยมีครูคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด
  • กิจกรรมหารายได้เพื่อการกุศล: PRC จัดกิจกรรมการกุศลเพื่อระดมทุนช่วยเหลือสังคมและพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรม “Shop for PRC Chapel” ซึ่งเป็นงานออกร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาพิเศษภายในโรงเรียน พร้อมการแสดงบนเวทีและเกมการกุศลต่าง ๆ โดยรายได้ทั้งหมดนำเข้าสมทบทุนบูรณะโบสถ์ประจำโรงเรียน (โครงการ “โบสถ์นี้ที่เรารักษ์”) กิจกรรมนี้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2560 ณ ลานอนุสาวรีย์หินหัวมุมของโรงเรียน และมีการจัดต่อเนื่องในปีถัดๆ มารวมถึงกิจกรรมเดิน-วิ่งเพื่อการกุศลต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตามโอกาสพิเศษ (ดังที่กล่าวถึงในหัวข้อวิ่งแฮรีสมินิมาราธอน)
  • สภานักเรียนและกิจกรรมผู้นำเยาวชน: โรงเรียนมีองค์กรสภานักเรียนที่เข้มแข็ง ซึ่งนักเรียนที่ได้รับเลือกตั้งจะมีบทบาทในการร่วมจัดกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เช่น การรณรงค์ประหยัดพลังงานในโรงเรียน การจัดงานวันสุนทรภู่ กิจกรรมวันภาษาไทย ตลอดจนเป็นแกนนำในพิธีการงานโรงเรียนต่าง ๆ นอกจากนี้ PRC ยังสนับสนุนให้นักเรียนที่มีความเป็นผู้นำเข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนระดับชาติ เช่น ค่ายผู้นำเยาวชน ค่ายลูกเสือต้านภัยยาเสพติด และกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับโรงเรียนต่างประเทศ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้การเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม

กิจกรรมที่โดดเด่น

[แก้]

ราตรีเพลินเพลง

[แก้]

ราตรีเพลินเพลิง หรือ Music Night เป็นงานประจำปีของโรงเรียนที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อส่งเสริมการแสดงความสามารถทางด้านดนตรีและทางการแสดงของนักเรียนทุกระดับชั้น โดยจะมีการจัดงานนี้ก่อนทางโรงเรียนปิดคริสต์มาสทุกปี

ดำหัวปีใหม่ ประชุมใหญ่ ส.น.ป.

[แก้]

ดำหัวปีใหม่ ประชุมใหญ่ ส.น.ป. เป็นงานประจำปีของโรงเรียน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนเก่าของโรงเรียนได้มาพบปะสังสรรค์และมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวขอพรจากครูเก่าของโรงเรียน งานดังกล่าวจัดขึ้นก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ร่วมกับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยเป็นผู้จัดกิจกรรมทุกปี

แฮรีสมินิมาราธอน

[แก้]

การแข่งขันแฮรีสมินิมาราธอนเป็นกิจกรรมวิ่งการกุศลที่โรงเรียนจัดขึ้นทุกปีตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน โดยมีจุดประสงค์เพื่อรำลึกถึงศาสนาจารย์วิลเลียม แฮรีส อดีตอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน ตลอดจนสมทบทุนมูลนิธิวิลเลียมแฮรีสอนุสรณ์และกองทุนของโรงเรียน แต่ในปี 2559 ไม่มีการจัดขึ้นเนี่องจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (วิ่งเพื่อโบสถ์นี้ที่เรารักษ์ ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2560 เพื่อนำเงินสมทบทุนมาซ่อมแซมโบสถ์ของโรงเรียนแทน)

รางวัลและความสำเร็จ

[แก้]

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยมีผลงานโดดเด่นในระดับนานาชาติ ประเทศ และภูมิภาคในหลากหลายสาขา ทั้งด้านวิชาการ กีฬา ดนตรี ศิลปะ และนวัตกรรม โดยรางวัลเหล่านี้สะท้อนถึงมาตรฐานการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนอย่างรอบด้าน ตัวอย่างรางวัลที่สำคัญ ได้แก่

โรงเรียนยังมีผลงานและรางวัลอีกจำนวนมากในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของโรงเรียน[11] หรือเพจทางการ[12]

รางวัลระดับนานาชาติ

[แก้]
  • Regeneron International Science and Engineering Fair (ISEF) Regeneron International Science and Engineering Fair (ISEF) เป็นเวทีแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายจากกว่า 70 ประเทศ โดยมีรางวัลสำคัญดังนี้
    • ปี พ.ศ. 2565 (2022) – จัดที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
      • ได้รับรางวัล Grand Award อันดับ 1 ในสาขา Translational Medical Science จากโครงงาน BiDEx (ระบบช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดีด้วยการตรวจไข่พยาธิใบไม้ตับ)
      • ได้รับ The Gordon E. Moore Award for Positive Outcomes for Future Generations ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน โดยมอบให้กับโครงงานที่สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่คนรุ่นใหม่ พร้อมรับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.7 ล้านบาท)
    • ปี พ.ศ. 2566 (2023) – จัดที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
      • ได้รับรางวัล Grand Award อันดับ 4 ในสาขา Translational Medical Science จากโครงงาน O-RA (ระบบอุปกรณ์ช่วยป้องกัน ชะลอ และฟื้นฟูข้อเสื่อม)
      • ได้รับ Special Award อันดับ 1 จากสมาคม Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society ซึ่งมอบให้แก่งานวิจัยยอดเยี่ยมในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ
    • ปี พ.ศ. 2567 (2024) – จัดที่นครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
      • ได้รับรางวัล Grand Award อันดับ 3 ในสาขา Translational Medical Science จากโครงงาน EiPCA (อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพา 12 ลีด)
      • ได้รับ Honorable Mention (รางวัลชมเชย) จากสมาคม Association for the Advancement of Artificial Intelligence (AAAI) สำหรับโครงงานแพลตฟอร์มวิเคราะห์ภาพดวงตาเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้น

การได้รับรางวัล Grand Award จาก ISEF เป็นการยืนยันถึงความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ในระดับโลก และการได้รับรางวัล The Gordon E. Moore Award ถือเป็นเกียรติสูงสุดที่นักเรียนสามารถได้รับในการแข่งขันนี้

  • Asiarope Olympiad Science 2023: นักเรียนได้รับรางวัล เหรียญทองแดง จากการแข่งขันโอลิมปิกวิทยาศาสตร์ระดับเยาวชน จัดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย การได้รับรางวัลนี้สะท้อนถึงความสามารถด้านการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาทางวิทยาศาสตร์ในระดับมาตรฐานนานาชาติ
  • International Mathematical Genius Olympiad (IMGO) 2024: นักเรียนได้รับรางวัล เหรียญทองแดง ในการแข่งขันคณิตศาสตร์ที่มีผู้เข้าร่วมจากหลายประเทศในเอเชียและยุโรป
  • International STEM Competitions (STEMCO) 2024: โรงเรียนได้รับ เหรียญทอง ในสาขาวิทยาศาสตร์ ระดับ Grade 5 ภายใต้หลักสูตรมาตรฐานประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นการแข่งขันที่วัดความสามารถด้าน STEM ระหว่างประเทศ
  • Global Students Innovation Challenge (gSIC) 2024: โรงเรียนได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทยนำเสนอนวัตกรรมเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุในการแข่งขันระดับนานาชาติ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน แสดงถึงความสามารถด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมในเวทีสากล
  • World Hip Hop Dance Championship 2025: ทีมเต้นของโรงเรียนได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการแข่งขันศิลปะการเต้นฮิปฮอประดับนานาชาติที่มีมาตรฐานสูงสุดในวงการ

รางวัลระดับประเทศ

[แก้]
  • Microsoft Imagine Cup Thailand 2023: โรงเรียนได้รับ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในสาขานวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (HealthTech) ด้วยผลงานระบบตรวจจับสัญญาณชีพด้วย AI ซึ่งเป็นการแข่งขันนวัตกรรมระดับประเทศที่สนับสนุนโดยไมโครซอฟท์ประเทศไทย
  • การประกวดนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 23 (ปี 2566): โรงเรียนได้รับ รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา พร้อมถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ด้วยผลงานด้านนวัตกรรมสุขภาพ ถือเป็นรางวัลสูงสุดของการประกวดนวัตกรรมแห่งชาติในประเทศไทย
  • การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมแห่งประเทศไทย (NSC) ครั้งที่ 26 (ปี 2567): โรงเรียนได้รับ รางวัลพระราชทาน จำนวนสองรางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศหมวดโปรแกรมเพื่อความบันเทิง และหมวดโปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และถือเป็นเวทีแข่งขันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญที่สุดของประเทศ
  • การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 39 "ราชบุรีเกมส์": ทีมนักกีฬารักบี้ของโรงเรียนคว้า เหรียญทองแดง ในประเภทการแข่งขันรักบี้ 7 คนชาย ถือเป็นเวทีการแข่งขันกีฬาระดับเยาวชนที่มีเกียรติและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
  • Thailand Hip Hop Dance Championship 2025: โรงเรียนได้รับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (เหรียญทองแดง) ในรุ่น JV MEGACREW ซึ่งเป็นการแข่งขันเต้นฮิปฮอประดับประเทศ จัดโดย Hip Hop International Thailand
  • รางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566: นักเรียนของโรงเรียนได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาศิลปะ ดนตรี และการแสดง ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถรอบด้านของนักเรียนในระดับประเทศ

รางวัลระดับภูมิภาคและจังหวัด

[แก้]
  • การแข่งขันอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์ ภาคเหนือ: โรงเรียนได้รับ รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ในการแข่งขันอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์ระดับภาคเหนือ
  • การแข่งขันว่ายน้ำ BLITZ X Chiang Mai Swimming Championships 2025: โรงเรียนได้รับรางวัล นักกีฬายอดเยี่ยมหญิงอันดับ 1 ในรุ่นอายุไม่เกิน 9 ปี และเหรียญรางวัลรวมสูงสุดในการแข่งขันว่ายน้ำระดับจังหวัดเชียงใหม่
  • การแข่งขันฟุตบอลเยาวชน "ป่า 5 สเตเดียม คัพ U14" และ "LPPS Cup U10": ทีมฟุตบอลเยาวชนของโรงเรียนคว้า รางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนระดับจังหวัด
  • งานวันวิทยาศาสตร์และการแข่งขันวิทยาศาสตร์ระดับภาคเหนือ: โรงเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศในหลายสาขาโครงงานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

อาคารและสถานที่

[แก้]

พิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีส

[แก้]

พิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีสเป็นอาคารหลักแรกของโรงเรียนที่สร้างด้วยไม้สัก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2448 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ใช้เป็นสถานที่รับเสด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานนามโรงเรียนในปี พ.ศ. 2449 สมัยศาสนาจารย์วิลเลียม แฮรีสได้ใช้เป็นบ้านพักและอาคารอำนวยการ ต่อมา ได้ใช้เป็นอาคารดนตรีและห้องซ้อมดุรยางค์[1] วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ได้เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้บ้านแฮรีส ทางโรงเรียนได้ก่อสร้างบ้านแฮรีสขึ้นใหม่ตรงที่ตั้งเก่าตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดิมทุกประการ โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2536[1]

พ.ศ. 2540 อดีตผู้อำนวยการ พงษ์ ตนานนท์ ดำริจะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โรงเรียนขึ้นมา เมื่อเสร็จแล้วจึงนับเป็นพิพิธภัณฑ์โรงเรียนแห่งแรกในภาคเหนือ[1] ภายในอาคารเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นภาพเหตุการณ์สำคัญมากกว่า 500 ภาพ

สถาบันแฮรีส

[แก้]

สถาบันแฮรีส หรือ "อาคาร 100 ปี" (Harris Institute) จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การพัฒนาการเรียนรู้แบบพหุปัญญา ส่งเสริมทักษะความสามารถของนักเรียนในการคิด ทำและวิเคราะห์ ตลอดจนเพื่อให้เป็นอาคารศูนย์กลางการค้นคว้าด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกทั้งยังเป็นการจัดเตรียมสถานที่การเรียนการสอนตามที่โรงเรียนได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการเรียนรู้ในโครงการจัดการการเรียนรู้บนพื้นฐานของการพัฒนาสมอง[13] รูปแบบของอาคาร เกิดจากการทำงานร่วมกันของศิษย์เก่าที่เรียนจบทางด้านสถาปนิก เน้นการออกแบบให้เด็กมีพื้นที่ทำกิจกรรมและการแสดงออกให้มากที่สุด โดยมีทั้งหมด 4 ชั้น พื้นที่ 4,000 ตารางเมตร ค่าก่อสร้างประมาณตารางเมตรละ 1 หมื่นบาท มีการทำพิธีวางฐานรากเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2549[13]

27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดสถาบันแฮรีสอย่างเป็นทางการ[14]

คริสตจักรโรงเรียน

[แก้]

โบสถ์ประจำโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ก่อสร้างขึ้นจากเงินบริจาคโดยคริสตศาสนิกชนชาวไทยและอเมริกัน ซึ่งพ่อครูดร.วิลเลียม แฮรีส ก็ถือเป็นบุคคลผู้ริเริ่มในการก่อสร้างโบสถ์ในปี พ.ศ. 2472 เมื่อโรงเรียนสามารถรวบรวมทุนได้มากเพียงพอแล้ว นายแวน แอลเล็น แฮรีส (Van Allen Harris) น้องชายของพ่อครูแฮรีสซึ่งเป็นสถาปนิกและวิศวกร ก็ได้เดินทางมาเชียงใหม่ แล้วทำการดำเนินการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างจนเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2473

สำหรับตัวอาคารโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นโดยมีการนำเอารูปแบบศิลปะแบบกอทิกมาประยุกต์ใช้ โครงสร้างของโบสถ์เป็นรูปแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลักษณะหลังคาเป็นทรงจั่ว ภายในอาคารเป็นเพดานยกสูงแบบจั่วซึ่งสามารถรองรับน้ำหนักได้ด้วยโครงสร้างหลังคาแบบ Hammer-beam roof ซึ่งเป็นรูปแบบการทำหลังคาแบบซุ้มโค้งแหลม ปัจจุบันโบสถ์ก็ยังเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจที่สำคัญของโรงเรียน[15]

โรงละคร

[แก้]

สร้างขึ้นพร้อมกันกับโบสถ์ของโรงเรียน เมื่อปี ค.ศ.1929 เพื่อใช้งานอเนกประสงค์ เป็นสถานที่ใช้จัดกิจกรรมสร้าง เสริม การเรียนรู้ของนักเรียน การประชุม การแสดงและรวมถึงใช้จัดอบรมจริยธรรม โรงละครนี้สร้างขึ้นโดยเงินบริจาคจากสหายร่วมชั้นเรียน ในมหาวิทยาลัยปรินสตันของ พ่อครู ดร.วิลเลียม แฮรีส ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยน้องชายของพ่อครูชื่อ วอลเตอร์ และแวน เอลเล็น แฮรีส

อนุสาวรีย์หินหัวมุม

[แก้]

สร้างขึ้นโดยสมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เพื่อเป็นที่ระลึกในการก่อตั้งโรงเรียน และได้นำแผ่นจารึกเมื่อครั้นพระราชทานนามโรงเรียน ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ พระราชทานให้เมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1906 ไปประดิษฐานไว้

อาคาร D.G. Collins

[แก้]

อาคาร D.G. Collins เป็นอาคารเรียนคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 4 ชั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2547 เพื่อรองรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นทศวรรษ 2540 ตัวอาคารถูกออกแบบให้มีห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ รวมทั้งมีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องสมุดขนาดย่อม และห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (E-Classroom) เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้ อาคารนี้ตั้งอยู่ในโซนมัธยมปลาย ใกล้กับสนามกีฬาของโรงเรียน[16]

อาคารกำราบ ไชยาพันธุ์

[แก้]

อาคารกำราบ ไชยาพันธุ์ เป็นอาคารเรียนคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น ซึ่งก่อสร้างในช่วงเดียวกับการพัฒนาพื้นที่โซนมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์อย่างเข้มข้น ลักษณะเด่นของอาคารคือมีพื้นที่ลานโล่งบริเวณชั้นล่าง สำหรับจัดกิจกรรมกลุ่มและงานนิทรรศการ ชั้นบนประกอบด้วยห้องเรียน ห้องพักครู และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ อาคารได้รับการตั้งชื่อตามผู้มีคุณูปการสำคัญของโรงเรียน

อาคารเพชรรัตน–สุวัทนา

[แก้]

อาคารเพชรรัตน–สุวัทนา ก่อสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2563–2564 เพื่อรองรับรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ตามแนวคิด Thailand 4.0 โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อาคารมีลักษณะเด่นคือมีลานกิจกรรมขนาดใหญ่พร้อมหลังคาคลุม พื้นที่รวมกว่า 900 ตารางเมตร รองรับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ การแสดงนวัตกรรม และกิจกรรมกีฬากลางแจ้ง อาคารนี้ตั้งอยู่ในโซนมัธยมปลาย ใกล้กับสนามบาสเกตบอลของโรงเรียน

อาคารนีลสัน เฮย์ส

[แก้]

อาคารนีลสัน เฮย์ส สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2463 โดย นพ.โทมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ส เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ภรรยาผู้ล่วงลับ นางนีลสัน เฮย์ส เดิมตัวอาคารเคยใช้เป็นโรงเรียนแพทย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นอาคารเรียนระดับประถมศึกษาในปัจจุบัน ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นการผสมผสานระหว่างโคโลเนียลตะวันตกและศิลปะล้านนา อาคารมีโครงสร้างเรียบง่ายแต่มั่นคง พร้อมลานอเนกประสงค์ด้านหน้า

อาคารเพาเวอร์ส ฮอลล์

[แก้]

อาคารเพาเวอร์ส ฮอลล์ ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 เพื่อใช้เป็นโรงอาหารแห่งแรกของโรงเรียน อาคารมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ไม่มีเสากลาง โถงกว้างใหญ่ รองรับนักเรียนจำนวนมากได้ในคราวเดียว ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอน โรงอาหารแห่งนี้ได้ถูกปรับปรุงให้เป็นห้องสมุดสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา โดยยังคงโครงสร้างดั้งเดิมไว้เพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์

อาคารเคนเนดี ฮอลล์

[แก้]

อาคารเคนเนดี ฮอลล์ หรือหอกลาง เป็นอาคารเรียนสองชั้น ก่อสร้างในช่วงขยายโครงการหอพักนักเรียนประจำ โดยมีสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล โครงสร้างอิฐฉาบปูนแข็งแรง ตัวอาคารตั้งอยู่ระหว่างตึกเหนือและตึกใต้ ซึ่งเดิมเป็นอาคารไม้สองหลังที่ใช้เป็นหอพัก อาคารเคนเนดี ฮอลล์ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นอาคารเรียนในเวลาต่อมา เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นในระดับประถมศึกษา

อาคาร 85 และ 86 ปี

[แก้]

อาคาร 85 ปี และ 86 ปี ก่อสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2534–2535 เพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งโรงเรียนครบ 85 และ 86 ปี แทนที่อาคารไม้สองหลังเดิมที่มีสภาพชำรุด ทรุดโทรม อาคารใหม่ทั้งสองหลังมีโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กสามชั้น มีห้องเรียนรวมกันจำนวน 24 ห้อง รองรับนักเรียนระดับประถมศึกษา และออกแบบพื้นที่ใช้สอยเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกิจกรรมในชั้นเรียนและนอกห้องเรียน

อาคารฉลอง 90 ปี

[แก้]

อาคารฉลอง 90 ปี หรือ Dr. Thomas Hayward Hays Memorial เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2539 เพื่อเฉลิมฉลองการครบ 90 ปีของโรงเรียน ตัวอาคารมีทั้งหมด 36 ห้องเรียน ใช้เป็นที่ทำการของฝ่ายประถมศึกษา และเป็นอาคารเรียนหลักของนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย ภายในตัวอาคารมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับศูนย์การเรียนรู้และศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาด้วย

อาคาร K.E. Wells

[แก้]

อาคาร K.E. Wells เป็นอาคารเรียนสูง 4 ชั้น ก่อสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2547 เพื่อรองรับการขยายตัวของนักเรียนระดับประถมศึกษา ตัวอาคารเน้นการออกแบบที่ทันสมัย มีพื้นที่สำหรับห้องเรียน ห้องสารสนเทศ และห้องเรียนระบบสมาร์ทคลาสรูม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล

อาคาร ADA

[แก้]

อาคาร ADA หรือ Ada Pinkerton Collins Building ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ Mrs. Ada ผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนในยุคเริ่มแรก ตัวอาคารเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 4 ชั้น ชั้นล่างใช้เป็นโรงอาหารสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ส่วนชั้นบนใช้เป็นห้องเรียนโดยออกแบบให้มีแสงธรรมชาติส่องถึงเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี

อาคารโรงอาหารประถมศึกษา

[แก้]

อาคารโรงอาหารระดับประถมศึกษา ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2559 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ใช้เป็นพื้นที่รับประทานอาหารสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น การออกแบบเน้นความโปร่งโล่ง การระบายอากาศ และการรักษาความสะอาด เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับนักเรียน

อาคารเรียนระดับปฐมวัย (กำลังก่อสร้าง)

[แก้]

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์สำหรับอาคารเรียนระดับปฐมวัยแห่งใหม่ ณ บริเวณด้านข้างอาคาร 75 ปี สภาคริสตจักรในประเทศไทย. อาคารใหม่นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการเรียนการสอนในระดับปฐมวัยที่มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น และเพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเล็ก. การออกแบบอาคารคำนึงถึงความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

[แก้]

ด้านสังคมและการเมือง

ด้านวิชาการ

  • ศาสตราจารย์ สวาสดิ์ ไชยคุณา อดีตอธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา (หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในปัจจุบัน)
  • ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ / อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย

นักสื่อสารมวลชน

  • ชมพูนุช ตัณฑเศรษฐี ผู้ประกาศข่าวช่องเวิร์คพอยท์
  • พิสิทธิ์ กีรติการกุล พิธีกร และผู้ประกาศข่าว
  • วัฒนากร ทิพจร ดีเจ, พิธีกร และผู้ประกาศข่าว

นักกีฬา

บุคคลในแวดวงบันเทิง

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 พิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีส. ผู้จัดการ 360°. สืบค้น 6-12-2553.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ประวัติโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เก็บถาวร 2002-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 5-12-2553.
  3. ประวัติ P.R.C. : ยุคที่สี่ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย[ลิงก์เสีย]. สมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 6-12-2553.
  4. ทะเบียนประธานรุ่นและสมาชิกสมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย (ส.น.ป.) เก็บถาวร 2010-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 5-12-2553.
  5. รำลึก 100 ปี ปรินส์รอยแยลส์ฯ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี "มาถึงวันแรกผมนั่งร้องไห้ใต้ต้นฉำฉา". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 5-12-2553.
  6. โครงการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่ เก็บถาวร 2009-08-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 6-12-2553.
  7. "Go Beyond Academy-PrimaryClass – The Prince Royal's College". สืบค้นเมื่อ 2025-04-27.
  8. 8.0 8.1 8.2 "กองลูกเสือเกียรติยศ" ในสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน "โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย" เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เชียงใหม่นิวส์. สืบค้นเมื่อ 5-12-2553.
  9. เอกสารกิจกรรมเด่นโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เก็บถาวร 2010-06-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง. สืบค้น 6-12-2553.
  10. ติดอาวุธทางปัญญา นำ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ สู่รั้วโรงเรียน เก็บถาวร 2010-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย. สืบค้น 06-12-2553.
  11. "เว็บไซต์โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย". สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2025.
  12. "PRC Better Together". สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2025.
  13. 13.0 13.1 จาก 100 ปี 100 ล้าน สู่ปรินส์รอย 2. ผู้จัดการ 360°. สืบค้น 6-12-2553.
  14. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิด "อาคาร 100 ปี สถาบันแฮรีส" โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์ฯจังหวัดเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 29-7-2554.
  15. อาคารอนุรักษ์ดีเด่น;โบสถ์ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เก็บถาวร 2018-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 27-10-2560.
  16. "ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย – The Prince Royal's College". สืบค้นเมื่อ 2025-04-27.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]