โรงเรียนสารวิทยา Sarawittaya School | |
---|---|
ภาพถ่ายโรงเรียนสารวิทยาจาก รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท สถานีกรมป่าไม้ | |
ที่ตั้ง | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | ส.ย. / SRV |
ชื่อเดิม | โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ สารวิทยา |
ประเภท | โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ |
คำขวัญ | บาลี: สุวิชฺโช ว ชเนสุโต (ผู้มีวิชาดี เป็นคนเด่นในหมู่ชน) |
สถาปนา | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 (80 ปี 152 วัน) |
ผู้ก่อตั้ง | พ.อ. พระวิทยาสารรณยุต (หยัด วิทยาสารรณยุต) เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก |
รหัส | 1000103002 |
ผู้อำนวยการ | นายนโรดม นรินทร์รัมย์ |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย |
จำนวนนักเรียน | 2,894 คน (ข้อมูล ณ ปีการศึกษา2563) [1] |
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน | ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส เกาหลี จีนกลาง ญี่ปุ่น |
พื้นที่ | 31 ไร่ |
สี | เขียว ขาว |
คำขวัญ | เรียนดี มีวินัย ใจนักกีฬา |
เพลง | มาร์ชสารวิทยา |
สังกัด | สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 2 สพฐ. |
ดอกไม้ประจำโรงเรียน | ดอกสาละ |
เว็บไซต์ | www |
โรงเรียนสารวิทยา เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประเภทสหศึกษา ตั้งอยู่เลขที่ 2398/96 ถนนพหลโยธิน แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโดย พ.อ.พระวิทยาสารรณยุต เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก มีเนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น ม.1 - ม.6 มีนักเรียนประมาณ 2,700 คน ครู-อาจารย์ 127 คน มีทั้งหมด 78 ห้องเรียนโดย มัธยมศึกษาตอนต้นมี 39 ห้อง (แบ่งเป็น 13-13-13) มัธยมศึกษาตอนปลายมี 39 ห้อง (แบ่งเป็น 13-13-13) สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มี 6 แผนการเรียนคือ วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์, คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ, วิทยาการกีฬา, และมีห้องเรียนพิเศษคือ วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี, ห้องเรียน GIFTED, ภาษาจีนเข้มข้น,ภาษาญี่ปุ่น,ภาษาฝรั่งเศส,ภาษาเกาหลีเข้มข้น[2][3]
ในปี 2484 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดพระนคร และธนบุรี ต้องหยุดทำมีมติเห็นพ้องต้องกันว่าควรจัดตั้งโรงเรียนขึ้นภายในกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกเพื่อทำการสอนเด็กเหล่านั้นจึงได้ดำเนินการขอจัดตั้งโรงเรียนต่อกระทรวงศึกษาธิการ
ดังนั้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2487 พ.อ. พระวิทยาสารรณยุตเจ้ากรมวิทยาศาสตร์ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนเป็นการภายในโดยใช้เรือนแถวนายทหารหมายเลข 9-10เป็นสถานที่ทำการสอน โดยมี พ.ต.ขุนบัญญัติ ทิพโกมุท เป็นเจ้าของ และผู้จัดการ นางสำรวย อุณหะเลขกะ เป็นครูทำการสอนอยู่ในความอุปการะของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกและได้เริ่มทำการสอน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2487
ในปี 2489 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง พ.อ.จักรายุทธวิชัย หงสกุล (ยศขณะนั้น) เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนต่อกระทรวงศึกษาธิการและได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนราษฎร์เป็นการถูกต้องตามพระราชบัญญัติให้ชื่อว่า “โรงเรียนสารวิทยา” สอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ชั้นประถม ปีที่ 1-4ประเภทสามัญ (ก่อนการเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2494) อนุญาตให้รับนักเรียนได้ 125 คนและใช้บริเวณแผนกที่ 6 กรมช่างแสง (แปรสภาพจากกรมวิทย์ฯ ) ถนนพหลโยธินบ้านพักหมายเลข 9-10 เป็นที่ตั้งของโรงเรียน มีนักเรียนทั้งสิ้น 27 คน รับนักเรียนทั่วไป มีครูทำการสอน 3 คน พ.ท.ขุนจรัส พนาวสาน เป็นเจ้าของโรงเรียน โดยมีร.อ.สุวัสตร์ ปัทมานนท์ เป็นผู้จัดการ และนางจำเนียร เอี่ยมบุญฤทธิ์ เป็นครูใหญ่ โรงเรียนได้ดำเนินการเรื่อยมา จนถึงปี 2490 จึงได้ขยายชั้นเรียนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีครูทำการสอน 9 คน เปิดสอนแบบสหศึกษา
ปีพ.ศ. 2498 โรงเรียนได้ขยายรับนักเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กระทรวงศึกษาธิการได้รับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล และอนุญาตให้เป็นหน่วย สมทบสอบ และทำการสอบไล่ได้เองทุกชั้น
ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2500 โรงเรียนสารวิทยาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์สารวิทยา” และมีนางวนิดา ปิ่นเพชร เป็นครูใหญ่แทน นางจำเนียร เอี่ยมบุญฤทธิ์ ครูใหญ่คนเดิมซึ่งขอลาออกเพื่อติดตามครอบครัวไปต่างจังหวัด
ในปี พ.ศ. 2503 โรงเรียนได้เปิดทำการสอนนักเรียนเตรียมปีที่ 1 แผนกวิทยาศาสตร์และในปี พ.ศ.2504 ได้ขยายชั้นเรียนถึงชั้นเตรียมปีที่ 2
วันที่ 1 พฤษภาคม 2519 โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์สารวิทยา ได้รับโอนเข้าสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้ชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนสารวิทยา” นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จนถึงปัจจุบันและวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันสถาปนาโรงเรียน
โรงเรียนสารวิทยาจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวน 2,894 คน และครูจำนวน 113 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ และประสบการณ์ทางการสอน นอกจากนี้ โรงเรียนสารวิทยาได้จัดแผนการเรียนที่หลากหลายตามความสนใจของนักเรียน ได้แก่ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่ ห้องเรียนปกติ Mini English Program หรือห้องเรียนจีนเข้มข้น ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ แผนการเรียนจีนเข้มข้น แผนการเรียนภาษาเกาหลีเข้มข้น แผนการเรียนพิเศษภาษาญี่ปุ่น แผนการเรียนพิเศษภาษาฝรั่งเศส แผนการเรียนคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และ เทคโนโลยี รวมทั้ง โครงการห้องเรียนพิเศษ (SAP)