โลงต่อตาย

โลงต่อตาย
กำกับเอกชัย เอื้อครองธรรม
เขียนบทเอกชัย เอื้อครองธรรม
อำนวยการสร้างพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์
นักแสดงนำอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม
คาเรน ม็อค
แอนดรูว์ ลิม
อากิ ชิบูย่า
ไมเคิล พูพาร์ท
วนิดา เฟเวอร์
นภคปภา นาคประสิทธิ์
สุเชาว์ พงษ์วิไล
ทัศวรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา
อัสนี สุวรรณ
ผู้จัดจำหน่ายLive Inc., Memotion และ NGR (ไทย)
GEG (ฮ่องกง)
Scorpio East (สิงคโปร์)
วันฉาย21 สิงหาคม พ.ศ. 2551
ประเทศไทย
ภาษาไทย
ทำเงิน31 ล้านบาท
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

โลงต่อตาย (ชื่ออังกฤษ: The Coffin) เป็นภาพยนตร์ไทย ที่ออกฉายเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551 กำกับและเขียนบทโดย เอกชัย เอื้อครองธรรม ซึ่งภาพยนตร์ในเรื่องนี้ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะให้ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำ นำแสดงโดย อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม, คาเรน ม็อค, แอนดรูว์ ลิม (นักแสดงฮ่องกง), อากิ ชิบูย่า (นักแสดงญี่ปุ่น), ไมเคิล พูพาร์ท, วนิดา เฟเวอร์, นภคปภา นาคประสิทธิ์, สุเชาว์ พงษ์วิไล, ทัศวรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา และ อัสนี สุวรรณ

ร่วมสร้างโดยบริษัท 3 ประเทศคือ Live Inc., Memotion และ NGR (ไทย), GEG (ฮ่องกง) และ Scorpio East (สิงคโปร์) โดยเรื่องนี้ได้รับรางวัล Best Project และเงินรางวัลจาก กองทุน Hubert Bal ในงาน HAF ฮ่องกง เอเชี่ยน ไฟแนนซ์เชี่ยล ฟอรัม โดยเอกชัย เอื้อครองธรรม ผู้กำกับภาพยนตร์ ส่งรายชื่อเข้าประกวดในนามบริษัท ที่ฟ้า [1]

สำหรับเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้คือเพลง 'ยื้อ' โดยโปเตโต้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ไม่ต้องการเสียคนที่เรารัก หรือสิ่งที่เรารักไป จะทำวิธีการใดก็ได้ จะฝืนดวงชะตาจะท้าฟ้าลิขิต ซึ่งเข้ากับเรื่องราวของภาพยนตร์[2]

โครงเรื่อง

[แก้]

คริส (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) สถาปนิกหนุ่มที่กลัวความแคบอย่างรุนแรง ได้มาเข้าพิธีนอนโลงสะเดาะเคราะห์ เพื่อหวังต่อชีวิตแฟนสาวชาวญี่ปุ่น มาริโกะ (อากิ ชิบูย่า) ที่อยู่ในอาการโคม่า ส่วนซู (คาเรน ม็อค) นักโภชนาการสาว ผู้เคร่งครัดต่อการดูแลสุขภาพ แต่กลับพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปอดในระยะสุดท้าย เธอหนีมาประเทศไทยก่อนแต่งงานกับคู่หมั้นหนุ่ม (แอนดรู ลิม) โดยเห็นการทำพิธีนอนโลงสะเดาะเคราะห์ในทีวี จึงลองเข้าร่วมทำพิธี จากนั้นเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น มาริโกะแฟนสาวของคริส หายจากอาการโคม่าเป็นปลิดทิ้ง แต่ก็เกิดเหตุการณ์ถูกผีสาวแม่ลูกอ่อนตามหลอกหลอน ส่วนซูหายจากมะเร็งอย่างเหลือเชื่อได้พบกับผีคู่หมั้นหนุ่มโดยมิได้รู้ว่าเป็นผี ภายหลังพบว่าแฟนหนุ่มของเธอประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตหลังเธอหายป่วยจากมะเร็ง เพื่อนรักของซู (ฟลอเร้นซ์ เฟเวอร์) ก็เข้ามาร่วมไขปริศนา ก็พบว่าความโชคร้ายต่าง ๆ ไม่ได้หายไปไหน แต่มันจะกลับเข้าหาคนรักแทน

ท้ายสุดทั้ง คริส, ซู, และเพื่อนของซู ไม่ขอฝืนชะตากรรม โดยทำพิธีคืน ทำให้มาริโกะแฟนของคริสกลับมาป่วยโคม่าอีกครั้ง ส่วนซูก็กลับมาเป็นมะเร็งในปอดอีกครั้ง

งานสร้าง

[แก้]

ที่มาของโครงเรื่องมาจาก เมื่อตอนที่ผู้กำกับ เอกชัย เอื้อครองธรรม เริ่มถามตัวเองว่า "กลัวอะไรที่สุด" ซึ่งคำตอบก็มาจากเมื่อตอนที่เขายังเป็นเด็ก มีเพื่อนสนิทขายโลงอยู่ที่ตรงข้ามสิริราม่าตรงเยาวราช ซึ่งเพื่อนเขาก็มักชวนไปเล่นซ่อนหากัน และมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงเรื่อง คือข่าว งานหนึ่งที่มีการนอนในโลงสะเดาะเคราะห์หมู่ที่โคราช เป็นข่าวใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นงานศพคนเป็นที่ใหญ่ที่สุดในโลก เอกชัยก็ได้ตัดข่าวเก็บไว้ หลังจากนั้นก็มีข่าวลงในบางกอกโพสต์ คนไปซื้อโลงและซื้อด้วยเงินผ่อน เพื่อเป็นการระลึกถึงว่าเขาต้องตายแน่นอน และเขาก็มีเพื่อนที่บริจาคโลงในวันเกิดตัวเอง เขาจึงเริ่มรีเสิร์ชตามวัดที่มีบริจาคโลง ไปงานที่โคราชที่จัดประจำทุกปี สัมภาษณ์คนไปนอนในโลง และข้อมูลจาก National Geographic ฉบับหน้าปกท่านพุทธทาสที่พูดเรื่อง ตายก่อนตาย [3]

เอกชัย เลือกที่จะทำงานกับคนคุ้นเคย อย่าง อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ที่เขาเคยทำงานร่วมกันใน Pleasure Factory มาก่อนโดยไม่สนว่าเขาจะมีผลงานภาพยนตร์ถึง 10 เรื่องในปีเดียว เขาพูดว่า "ผมเป็นคนไม่ชอบใช้ดารา อยากจะใช้คนที่เล่นเป็น แต่เผอิญอนันดาเขาเล่นได้ แล้วก็เป็นดาราด้วย ก็ถือว่าเป็นโบนัส"[4]

การตอบรับ

[แก้]

การออกฉายและรายได้

[แก้]

โลงต่อตาย เข้าฉายเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551 สามารถทำรายได้ในสัปดาห์แรกที่อันดับ 1[5] ชนะคู่แข่งที่เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดอย่างเรื่องDeath Race ของเจสัน สเตแฮม ที่ออกฉายในวันเดียวกันไปได้[6] ด้วยรายได้ในสัปดาห์แรก 15 ล้านบาท[7] ทำรายได้รวม 31 ล้านบาท[8]

คำวิจารณ์

[แก้]

วิมลศักดิ์ ปัญชรมาศจาก นิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ สรุปเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "อาจกล่าวได้ว่า นี่คือหนังดราม่าที่ว่าด้วยเรื่องของความตาย"[9]

อภินันท์ บุญเรืองพะเนา จากผู้จัดการออนไลน์วิจารณ์ไว้ว่า "โลงต่อตาย จะพรีเซ็นต์ตัวเองออกมาในรูปแบบของหนังผี แต่นี่ก็ไม่ใช่หนังผีที่ตั้งหน้าตั้งตามาหลอกหลอนคนดูแบบเอาเป็นเอาตาย มากไปกว่านั้น โลงต่อตาย ยังคมคายด้วยแง่คิดเกี่ยวกับชีวิตและความรักที่เล่าประสานไปกับเรื่องราวสยองขวัญได้อย่างกลมกลืน ผ่านเรื่องราวของตัวละครสองคนที่คิดกันไปคนละแบบ" [10]

ชาคร ไชยปรีชา จาก นิตยสารฟิล์มแมกซ์ วิจารณ์เกี่ยวกับการเล่าเรื่องว่า "ไม่ได้มีเพียงแค่การเล่าเรื่องที่สับสนและอืดเนือยไร้อารมณ์ร่วมเท่านั้น แต่การถ่ายภาพที่ออกมาในโทนมึน ๆ บวกกับการ บังคับดู พากย์ไทย ยิ่งทำให้ส่วนที่ลดทอนความน่าติดตามของหนังลงไปอีกมาก"[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. โลงต่อตาย (The Coffin) thaicinema.org
  2. "'โลงต่อตาย'แรง ทั้งหนัง ทั้งเพลงประกอบ 'ยื้อ'เปิดตัวอันดับ1". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-02. สืบค้นเมื่อ 2008-08-25.
  3. ยันตกร ยุสานนท์. "The Coffin โลงต่อตาย", นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 998 ประจำวันที่ 21-27 สิงหาคม 2551 หน้า 41-45
  4. "Are You Scared of Death?". นิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 หน้า 39
  5. โลงต่อตาย เปิดตัวอันดับหนึ่งทั่วประเทศ
  6. “The Coffin” scares up No. 1 slot at Thai box office horrorsociety.com
  7. "โลงต่อตาย" แจ้งเกิด 15 ล. Death Race เข้าวิน 11 ล.[ลิงก์เสีย] ผู้จัดการออนไลน์ 31 สิงหาคม 2551 00:35 น.
  8. มยุรี อำนวยพร, ที่สุดของหนังเด่น-หนังโดนแห่งปี เก็บถาวร 2008-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน dailynews.co.th
  9. นิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ ฉบับกันยายน 2551 หน้า 133
  10. อภินันท์ บุญเรืองพะเนา, โลงต่อตาย : หนังไทยดีๆ แห่งปี 2551!! เก็บถาวร 2011-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์ 26 สิงหาคม 2551 13:58 น.
  11. นิตยสาร Filmmax ฉบับกันยายน 2551 หน้า 59

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]