"ในยามแห่งอาวุธ กฎหมายทรุดเงียบลง" (ละติน: inter arma enim silent leges) เป็นภาษิตละติน เอ่ยขึ้นครั้งแรกโดยกิแกโร นักกฎหมายชาวโรมันโบราณ โดยปรากฏในสุนทรพจน์ของเขาที่ชื่อ แด่มีโล (Pro Milone) ซึ่งต้นฉบับใช้คำว่า Silent enim lēgēs inter arma เนื่องขากในยุคของกิแกโรมีการใช้ความรุนแรงปราบปรามฝูงชนอยู่เสมอ และกลุ่มผู้ใช้อาวุธนี้ก็มักได้รับเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญต่างๆ[1][2]
ในสหรัฐอเมริกา ช่วงสงครามกลางเมืองเมื่อ ค.ศ. 1861 อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา สั่งระงับสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในอันที่จะได้รับการปล่อยจากการคุมขังที่มิชอบ และ โรเจอร์ บี. แทนีย์ (Roger B. Taney) ประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ออกนั่งบัลลังก์เป็นตุลาการศาลเคลื่อนที่ประจำรัฐเมเรอเลินด์ (Circuit Court of Maryland) มีคำวินิจฉัยใน คดีฝ่ายเดียวของแมรีแมน (Ex parte Merryman) ว่า "1. ว่า ประธานาธิบดี...มิอาจระงับเอกสิทธิ์ในอันที่จะได้รับการปล่อยจากการคุมขังที่มิชอบ และไม่อาจให้อำนาจเจ้าพนักงานทหารระงับเอกสิทธิ์เช่นนั้นด้วย 2. ว่า เจ้าพนักงานทหารหามีสิทธิจับกุมและคุมขังบุคคลผู้มิได้อยู่ในบังคับแห่งระเบียบและข้อบังคับทางการยุทธได้...เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตุลาการ และต้องอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานตุลาการด้วย"[3] [4] [5]
อย่างไรก็ดี ใน คดีฝ่ายเดียวของมิลลิแกน (Ex parte Milligan) เมื่อ ค.ศ. 1866 ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยว่า กฎหมายเรื่องสิทธิของพลเมืองจำจะต้องเงียบลงในยามสงคราม โดยกล่าวว่า "[บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง] เหล่านี้นั้น อันที่จริงแล้ว ก็เป็นบทรัฐธรรมนูญอันใฝ่สันติ และก็เป็นดุจเดียวกับกฎหมาย [ทั้งหลาย]...ที่จำจะต้องสงบปากสงบคำลงเมื่อเผชิญหน้ากับอาวุธ..."[6] [7]
นอกจากนี้ ใน คดีระหว่างฮิระบะยะชิ กับสหรัฐอเมริกา (Hirabayashi v. United States) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อ ค.ศ. 1943 ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกายังรับรองว่า การห้ามชนกลุ่มน้อยออกจากเคหสถานในยามวิกาลนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะประเทศชาติกำลังทำสงครามกับรัฐแม่ของชนเหล่านี้[8] ในวันนั้น ศาลดังกล่าวยังมีคำวินิจฉัยทำนองเดียวกันใน คดีระหว่างยะซุอิ กับสหรัฐอเมริกา (Yasui v. United States) ด้วย[9]
ใน ค.ศ. 1998 วิลเลียม เรห์นควิสต์ (William Rehnquist) ประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวในบทความ กฎหมายมีทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียว คือ เสรีภาพของพลเมืองในยามสงคราม (All the Laws but One: Civil Liberties in Wartime) ว่า ในอนาคต ศาลไม่ควรยอมรับการบั่นทอนเสรีภาพของพลเมืองในภาวะสงครามอีก เขาเน้นย้ำว่า "เป็นไปไม่ได้ และไม่มีทางจะเป็นได้เลย ที่เสรีภาพของพลเมืองจะยังให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในยามรบ ดุจเดียวกับในยามสงบ แต่ควรอย่างยิ่ง และเป็นไปได้ ที่ศาลจะใฝ่ใจให้มากขึ้นในข้อที่รัฐบาลอ้างว่าจำเป็นต้องลดทอนสิทธิของพลเมือง" เขาว่า "ถ้าทำเช่นนี้ได้ กฎหมายก็จะไม่เงียบงัน เมื่อต้องประชันกับอาวุธอีก แต่กฎหมายจะได้เปล่งสำเนียงที่ต่างออกไป"[10] [11]
ไม่ช้าไม่นานมานี้ ใน ค.ศ. 2004 แอนโทนิน สกาเลีย (Antonin Scalia) ตุลาการศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา มีคำวินิจฉัยใน คดีระหว่างแฮมดี กับรัมส์ฟิลด์ (Hamdi v. Rumsfeld) ว่า รัฐบาลสามารถกักขังพลเมืองของตนในฐานะพลรบของปัจจามิตรได้ แต่ต้องไม่ระงับสิทธิของเขาในอันจะได้รับการปล่อยจากการคุมขังที่มิชอบ สกาเลียว่า[12] [13]
"หลาย ๆ คนคงเห็นว่า เป็นการสมควร ไม่ใช่แค่เลี่ยงไม่ได้ แต่สมควรอย่างยิ่ง ที่ในยามวิกฤติของชาติอันตั้งอยู่บนจุดสุดยอดแห่งความฉุกเฉินทางการทหารนั้น เสรีภาพจักต้องเปิดทางให้แก่ความมั่นคง...และไม่ว่ารูปคดีจะเป็นเช่นไร อาจมีคนมองว่า กฎหมายควรหุบปากหรือเบาเสียงลงหน่อยในยามสงคราม แต่ไม่มีที่สำหรับมุมมองเช่นนี้ในการตีความหรือใช้บังคับซึ่งรัฐธรรมนูญอันออกแบบมาอย่างแยบคายเพื่อประเชิญหน้าและรับมือกับสงครามในประการที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย"