ก่อตั้ง | 2540 |
---|---|
ประเทศ | ไทย |
สมาพันธ์ | เอเอฟซี |
จำนวนทีม | 18 (ตั้งแต่ 2562) |
ระดับในพีระมิด | 2 |
เลื่อนชั้นสู่ | ไทยลีก |
ตกชั้นสู่ | ไทยลีก 3 |
ถ้วยระดับประเทศ | ไทยเอฟเอคัพ |
ถ้วยระดับลีก | ไทยลีกคัพ |
ถ้วยระดับนานาชาติ | เอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก (ผ่านบอลถ้วย) |
ทีมชนะเลิศปัจจุบัน | นครราชสีมา มาสด้า (สมัยที่ 2) (ฤดูกาล 2566–67) |
ชนะเลิศมากที่สุด | เพื่อนตำรวจ (4 สมัย) |
เว็บไซต์ | Thai League 2 (T2) |
ปัจจุบัน: ฤดูกาล 2567–68 |
ไทยลีก 2 (อังกฤษ: Thai League 2; ชื่อย่อ T2) เป็นการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ ระดับที่สองใน ประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2540 ภายใต้การบริหารของ บริษัท ไทยลีก จำกัด มีสโมสรฟุตบอลที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 18 สโมสร ดำเนินการแข่งขัน ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงตุลาคมของทุกปี โดยแต่ละสโมสรจะแข่งขันแบบพบกันหมด สองนัดเหย้าเยือนรวม 34 นัดต่อสโมสรต่อฤดูกาล รวมทั้งหมด 306 นัดต่อฤดูกาล
ก่อนหน้าที่จะมีการจัดการแข่งขัน การแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรระดับสองของประเทศ คือ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข. (ถ้วยน้อย) ซึ่งจัดการแข่งขันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 จนถึงปี พ.ศ. 2539 ต่อมาทาง สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีความคิดในการที่จะปรับปรุงระบบการแข่งขันฟุตบอลในประเทศ โดยเริ่มก่อตั้งฟุตบอลลีกสูงสุดขึ้น และมีปรับโครงสร้างลีก โดยได้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกระดับที่สองแทน เพื่อรองรับสโมสรที่ตกชั้นจาก ไทยลีก ฤดูกาล 2539 และ สโมสรที่ขึ้นชั้นมาจาก ถ้วย ข. ฤดูกาล 2539 โดยแข่งขันระบบลีกแบบพบกันหมดสองนัด เหย้า-เยือน ซึ่งมีสโมสรเข้าร่วมการแข่งขันใน ฤดูกาลแรก 10 สโมสร โดยมีการเพลย์ออฟเลื่อนชั้น-ตกชั้น อีกด้วย
โดยในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการปรับเปลื่ยนระบบการแข่งขัน เพื่อให้สอดคล้องกับการรวมลีกในอนาคต จึงทำให้ ฤดูกาล 2549 เป็นฤดูกาลแรกที่ยกเลิกการเพลย์ออฟเลื่อนชั้น-ตกชั้น โดยจะให้สโมสรชนะเลิศและรองชนะเลิศของการแข่งขัน เลื่อนชั้นไปทำการแข่งขันใน ไทยลีก โดยอัตโนมัติ[1] และสืบเนื่องจากการที่ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดการแข่งขัน ไทยลีกดิวิชัน 2 ขึ้นมาเป็นลีกระดับสาม แทนที่ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข. ทำให้มีการเปลื่ยนแปลงคือให้สองทีมอันดับสุดท้ายของตาราง (อันดับที่ 11 และ 12) ตกชั้นไปทำการแข่งขันใน ดิวิชั่น 2 ฤดูกาล 2550
จนกระทั่งในปีถัดมา (พ.ศ. 2550) จึงมีการควบรวม โปรวินเชียลลีก โดยได้มีการจัดทำ บันทึกช่วยจำ การจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพของประเทศไทย ระหว่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย กับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ[2] ซึ่งเป็นเอกสารข้อตกลงในการรวมลีกทั้งสองเข้าเป็นลีกเดียว โดยให้สิทธิ์สโมสรที่จบอันดับ 4-14 ในการแข่งขัน โปรลีก ฤดูกาล 2549 เข้าร่วมการแข่งขันในลีก โดยรวมกับ สโมสรที่จบอันดับ 3-10 ของ ฤดูกาล 2549 เป็น 24 สโมสร และปรับโครงสร้างลีกให้ลดจำนวนสโมสรที่ทำการแข่งขัน เหลือ 16 สโมสร ใน ฤดูกาล 2551
ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ออกระเบียบว่าด้วยความเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นผลให้สมาคมฯ ต้องดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อบริหารลีกและจัดการแข่งขันแทนที่ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ โดยได้มีการจัดตั้ง บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ขึ้น ส่งผลให้มีการแข่งขันเชิงรูปแบบ การบริหารจัดการให้เป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น รวมทั้งแพร่หลายออกไปยังส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยใน ฤดูกาล 2554 สมาคมฯ ประกาศเพิ่มจำนวนสโมสรที่จะทำการแข่งขัน เป็น 18 สโมสรเป็นตันมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงจัดการแข่งขันใหม่ๆ จนถึง ฤดูกาล 2548 การเลื่อนชั้นจะมีหลักเกณฑ์คือ สโมสรที่ชนะเลิศจะได้สิทธิ์เลื่อนชั้นไปทำการแข่งขันในไทยลีกโดยอัตโนมัติ และจะมีการเพลย์ออฟ เลื่อนชั้น-ตกชั้น ระหว่างสโมสรที่จบอันดับรองชนะเลิศ กับสโมสรอันดับที่ 11 ของไทยลีก (จนถึง ฤดูกาล 2543) ต่อมาใน ฤดูกาล 2545/46 มีการเปลี่ยนแปลง โดยให้สโมสรที่ชนะเลิศ และรองชนะเลิศเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ และการเพลย์ออฟยังคงเดิม แต่ให้สิทธิ์สโมสรที่จบการแข่งขันด้วยอันดับที่ 3 จะต้องไปแข่งเพลย์ออฟ เลื่อนชั้น-ตกชั้น กับอันดับที่ 8 ของไทยลีกจนถึงฤดูกาล 2548
ใน ฤดูกาล 2563 ได้มีการปรับปรุงระเบียบการแข่งขันใหม่ ซึ่งได้นำระบบการเพลย์ออฟกลับมาใช้อีกครั้งกล่าวคือ ยังคงให้สโมสรชนะเลิศและรองชนะเลิศจะได้สิทธิ์เลื่อนชั้นไปทำการแข่งขันใน ไทยลีก โดยอัตโนมัติ แต่จะให้สโมสรที่จบการแข่งขันอันดับที่ 3 - 6 จะต้องมาทำการแข่งขันเพลย์ออฟเพื่อหาสโมสรชนะเลิศเพลย์ออฟเลื่อนชั้นขึ้นไปทำการแข่งขันในไทยลีก ซึ่งแตกต่างจากหลายฤดูกาลก่อนหน้าที่มีการเลื่อนชั้นทั้งหมด 3 สโมสร โดยใช้ตารางอันดับเมื่อจบการแข่งขัน (กล่าวคือ สโมสรชนะเลิศ รองชนะเลิศ และ สโมสรที่จบอันดับ 3 ในการแข่งขันได้เลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ)
สำหรับการตกชั้นไปเล่นใน ไทยเนชันนัลลีก ของสโมสรในลีกไทยลีก 2 นั้น ทีมอันดับ 16-18 จะต้องตกชั้นลงมาเล่นใน ไทยเนชันนัลลีก ในขณะเดียวกัน สโมสรชนะเลิศทั้งสายบน และ ล่างของประเทศ รวมไปถึงสโมสรชนะเลิศเพลย์ออฟ (สโมสรรองชนะเลิศของทั้งสองสาย) จะได้สิทธิ์เลื่อนชั้นมาทำการแข่งขันแทน โดยในสองฤดูกาลแรกของการแข่งขัน ได้จัดให้สโมสรอันดับที่ 10 ตกชั้นโดยอัตโนมัติ และสโมสรอันดับที่ 9 จะต้องไปเพลย์ออฟ เลื่อนชั้น-ตกชั้น กับสโมสรรองชนะเลิศ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข. ของปีนั้นๆ และยกเลิกไปใน ฤดูกาล 2542 ต่อมาเมื่อมีการจัดการแข่งขัน ไทยลีกดิวิชัน 2 ขึ้นในปี พ.ศ. 2550 ทำให้มีการปรับกฎระเบียบ โดยสโมสรที่จบสองอันดับสุดท้ายของ ฤดูกาล 2549 ตกชั้นลงไปเล่นดิวิชั่น 2 ต่อมาเมื่อมีการปรับโครงสร้างลีก โดยใน ฤดูกาล 2550 กำหนดให้สโมสรที่จบอันดับที่ 8-12 ของสาย A และ B ตกชั้นไปทำการแข่งขันดิวิชั่น 2 เพื่อปรับโครงสร้างลีกให้ได้ 16 ทีมใน ฤดูกาลถัดไป
# | ฤดูกาล | ชนะเลิศ | รองชนะเลิศ | สโมสรที่เข้ารอบเพลย์ออฟ | สโมสรที่เลื่อนชั้น |
---|---|---|---|---|---|
23 | 2563–64 | หนองบัว พิชญ | เชียงใหม่ ยูไนเต็ด | นครปฐม ยูไนเต็ด, ขอนแก่น ยูไนเต็ด, แพร่ ยูไนเต็ด, ชัยนาท ฮอร์นบิล | หนองบัว พิชญ, เชียงใหม่ ยูไนเต็ด, ขอนแก่น ยูไนเต็ด |
24 | 2564–65 | ลำพูน วอร์ริเออร์ | สุโขทัย | ตราด, ลำปาง, ชัยนาท ฮอร์นบิล, แพร่ ยูไนเต็ด | ลำพูน วอร์ริเออร์, สุโขทัย, ลำปาง |
25 | 2565–66 | นครปฐม ยูไนเต็ด | ตราด | อุทัยธานี, คัสตอม ยูไนเต็ด, เชียงใหม่ ยูไนเต็ด, สุพรรณบุรี | นครปฐม ยูไนเต็ด, ตราด, อุทัยธานี |
26 | 2566–67 | นครราชสีมา มาสด้า | หนองบัว พิชญ | ระยอง, เชียงใหม่, นครศรีฯ ยูไนเต็ด, อยุธยา ยูไนเต็ด | นครราชสีมา มาสด้า, หนองบัว พิชญ, ระยอง |
ปี | ผู้เล่น | สโมสร |
---|---|---|
2566–67 | เดย์วีซง เฟร์นังจิส | นครราชสีมา มาสด้า |
2565–66 |
ปี | ผู้ฝึกสอน | สโมสร |
---|---|---|
2566–67 | ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น | นครราชสีมา มาสด้า |
2565–66 |
สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ บริษัท ไทยลีก จำกัด เป็นผู้สนับสนุนเงินรางวัล สำหรับสโมสรฟุตบอลซึ่งได้คะแนนรวม เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลในอันดับต่างๆ ดังต่อไปนี้
อันดับที่ | รางวัล |
---|---|
อันดับที่ 1 | 5,000,000 บาท |
อันดับที่ 2 | 3,000,000 บาท |
อันดับที่ 3 | 1,000,000 บาท |
อันดับที่ 4 | 500,000 บาท |
อันดับที่ 5 | 300,000 บาท |
อันดับที่ 6 | 100,000 บาท |
อันดับที่ 7 | 50,000 บาท |
นอกจากนี้ ยังมีเงินบำรุงสโมสรที่เข้าร่วมแข่งขัน และโล่รางวัลสำหรับสโมสรที่มีมารยาทยอดเยี่ยม, ผู้จัดการทีม/หัวหน้าผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยม, ผู้ทำประตูสูงสุด, นักฟุตบอลเยาวชนผู้มีผลงานโดดเด่น และผู้เล่นยอดเยี่ยมตำแหน่งต่างๆ คือผู้รักษาประตู, กองหลัง, กองกลาง, กองหน้า[4]
ถ้วยรางวัลชนะเลิศ เป็นถ้วยเกียรติยศที่ทาง “สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ” และ “ฝ่ายจัดการแข่งขัน” จะมอบให้กับทีมชนะเลิศในวันแข่งขันนัดเหย้าที่เป็นนัดสุดท้ายของทีมชนะเลิศในแต่ละประเภท โดยมอบให้ครองเป็นเกียรตินาน 1 ปีและจะต้องส่งคืนให้กับ บริษัท ไทยลีก จำกัด ก่อนจบฤดูกาลของการแข่งขันปีถัดไปไม่น้อยกว่า 2 เดือน รวมทั้งจะต้องรับผิดชอบต่อการชำรุดหรือสูญหายของถ้วยรางวัลระหว่างที่ครอบครองอยู่ด้วย ทั้งนี้ “สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ” และ “ฝ่ายจัดการแข่งขัน” ขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกคืนถ้วยรางวัลชนะเลิศได้ตลอดเวลา