ไทยเชื้อสายอินเดีย

ชาวไทยเชื้อสายอินเดีย
สตรีเชื้อสายอินเดียในชุดส่าหรีกำลังร่ายรำในการฉลองทีปาวลีในกรุงเทพมหานครเมื่อ 2565
ประชากรทั้งหมด
ประมาณ 465,000 คน[ต้องการอ้างอิง]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
กรุงเทพมหานคร, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดภูเก็ต
ไทย ประเทศไทย
ภาษา
ศาสนา
ส่วนมาก:

ส่วนน้อย:

ชาวไทยเชื้อสายอินเดีย คือชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากชาวอินเดียที่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ชาวซิกข์และชาวฮินดู

การแบ่งกลุ่ม

[แก้]

ชาวไทยเชื้อสายอินเดีย แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

ซิกข์

[แก้]

ชาวซิกข์จะมีการแต่งกายที่มีจุดเด่น คือ ผู้ชายจะโพกหัวและมีคำลงท้ายว่า ‘สิงห์’ ชาวซิกข์ทุกคนมีสัญลักษณ์ประจำกาย 5 อย่างหรือ ก 5 ประการ ได้แก่:

  1. เกศ หรือ เกศา (Kesh) - ผมที่ไม่ถูกตัด
  2. กังฆา หรือ กังค่า (Kangha) - หวีไม้สำหรับหวีผม
  3. กรา หรือ การ่า (Kara) - กำไลโลหะ
  4. กฉา หรือ กาแชร่า (Kachera) - กางเกงขาสั้นทำจากฝ้าย 100% ใส่เป็นกางเกงชั้นใน
  5. กิรปาน (Kirpan) - ดาบสั้นหรือมีดสั้น ไว้ป้องกันตนเอง

นอกจากนี้ยังห้ามกินเนื้อวัวและไม่มีรูปเคารพ แต่เมื่อมาอยู่ประเทศไทย จึงต้องปรับตัวเองตามสังคม เช่น มีดมีขนาดเล็กลง มีความยาวเพียงไม่กี่นิ้ว บางคนทำเป็นจี้ห้อยคอ หรือเปลี่ยนจากกำไลเหล็กเป็นกำไลทอง

ชาวซิกข์เดินทางจากรัฐปัญจาบเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเข้ามาทางประเทศมาเลเซียโดยผ่านภาคใต้ หรือมาทางบกโดยผ่านประเทศพม่า หลายคนเข้ามาเป็นพลตระเวน (ตำรวจ) แต่ส่วนใหญ่นิยมทำการค้า คนไทยจึงเรียกกันติดปากว่า แขกขายผ้า ชาวซิกข์ที่เปิดเป็นล่ำเป็นสันอยู่ที่บ้านหม้อ สมัยนั้นเรียก ร้านแขก เมื่อการค้าเจริญขึ้น จึงได้ชักชวนญาติพี่น้องเข้ามามากขึ้น และรวมกลุ่มตั้งแหล่งทำกินที่พาหุรัด เมื่อพาหุรัดแออัด ชาวซิกข์จึงหาที่อยู่ใหม่แถบท่าพระ บางแค สุขุมวิท คลองตัน และสี่แยกบ้านแขก โดยเฉพาะซอยสารภี 2 ถือเป็นกลุ่มใหญ่ นอกจากขายผ้า ชาวซิกข์ยังนิยมปล่อยเงินกู้หรือขายของเงินผ่อนด้วย

นามธารี (Namdhari) เป็นนิกายหนึ่งในศาสนาซิกข์ที่ราม สิงห์ (พระศาสดาองค์ที่ 12) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2355 นอกจากการปฏิบัติตามหลักศาสนาซิกข์แล้ว ยังต้องถือบัญญัติขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ด้วย เช่น ห้ามกินเนื้อสัตว์และไข่ทุกชนิด ต้องสวดมนต์ระลึกถึงพระนามของพระผู้เป็นเจ้า "นาม ซิมราน" (Nam Simran) ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ผู้ชายต้องโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวเท่านั้น ผู้หญิงห้ามใช้เครื่องประดับหรือแต่งหน้าทาปาก เน้นใช้ชีวิตเรียบง่าย บริเวณที่คนกลุ่มนี้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คือ ถนนสุขุมวิทและสี่แยกบ้านแขก

ฮินดู

[แก้]

บรรพบุรุษชาวพราหมณ์ฮินดูในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชาวรัฐปัญจาบและรัฐอุตตรประเทศจากประเทศอินเดีย ชาวฮินดูที่อพยพมาจากรัฐปัญจาบนิยมกิจการค้าผ้าที่พาหุรัด ส่วนที่มาจากรัฐอุตตรประเทศเกือบทั้งหมดมีอาชีพเป็นแขกยาม ก่อนที่จะลดจำนวนลงเมื่อทางการประกาศห้ามคนต่างด้าวทำอาชีพนี้

ชาวฮินดูนิยมตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพมหานครมากกว่าที่จังหวัดอื่น พวกที่มาจากรัฐปัญจาบนิยมตั้งชุมชนแถบพาหุรัด สี่แยกบ้านแขก และถนนสุขุมวิท โดยที่สี่แยกบ้านแขกอยู่หนาแน่นนับร้อยครัวเรือนในซอยสารภี 2 และกระจายตามซอยในถนนอิสรภาพ ได้แก่ซอยอิสรภาพ 3, 6, 8, 12 และ 15 ส่วนที่มาจากรัฐอุตตรประเทศตั้งถิ่นฐานแถบหัวลำโพง

คุชราต

[แก้]

ชาวอินเดียมุสลิมจากรัฐคุชราต แบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย โดยจำแนกตามนิกาย คือ

  1. กลุ่มซุนนี คือกลุ่มที่นับถือนิกายซุนนี โดยมากมีอาชีพเป็นพ่อค้า มีศาสนสถานประจำกลุ่มคือมัสยิดกูวติลอิสลาม หรือมัสยิดตึกแดง ตระกูลที่มีชื่อเสียงคือตระกูลนานา[1]
  2. กลุ่มดาวูดีโบห์รา หรือ แขกสะระบั่นทอง ชื่อมาจากคำว่า "ดาวูดี" เป็นชื่อของผู้นำทางจิตวิญญาณของนิกายชีอะฮ์อิสมาลียะฮ์ กับคำว่า "โบห์รา" มาจากภาษาคุชราต แปลว่า "vehru" หรือ "พ่อค้า" เพราะส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายเป็นหลัก อพยพเข้ามาในสยามช่วงปี พ.ศ. 2400 เป็นต้นมา ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพมหานคร แถบถนนเจริญกรุง ถนนพาหุรัด ถนนจักรเพชร รวมถึงวัดอนงคาราม และย่านเจริญพาศน์ ฝั่งธนบุรี[2] เดิมมีศาสนสถานประจำกลุ่มสองแห่งคือมัสยิดบ้านหม้อ ย่านพาหุรัด ปัจจุบันปิดตัวลงแล้ว จึงเหลืออีกแห่งคือมัสยิดเซฟี หรือสุเหร่าตึกขาว ย่านคลองสาน โดยลักษณะพิเศษของมัสยิดมุสลิมดาวูดีโบห์ราจะไม่มีมิมบัร (แท่นแสดงธรรม) และไม่มีหออะซาน[3]

เชน

[แก้]

ผู้นับถือศาสนาเชนในกรุงเทพมหานคร โดยมากอาศัยอยู่ในซอยพุทธโอสถหรือซอยการาจี เขตบางรัก โดยมีศาสนสถานทั้งนิกายทิคัมพรและเศวตามพรอย่างละแห่ง ในปี พ.ศ. 2563 มีศาสนิกชนจำนวน 125 คน[4]

ปาร์ซี

[แก้]
สันต์ เปสตันยี และรัตนาวดี รัตนาพันธ์ บุตรของรัตน์ เปสตันยี

บุคคลเชื้อสายปาร์ซี คือ ชาวอินเดียที่มีบรรพบุรุษนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์มาจากประเทศอิหร่าน เข้าไปตั้งหลักแหล่งในประเทศอินเดีย และมีบางส่วนอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย[4] เข้าใจว่าชาวปาร์ซีคงอพยพสู่ไทยตั้งแต่การเปิดเสรีการค้าจากสนธิสัญญาเบอร์นี เมื่อปี พ.ศ. 2368 เพราะปรากฏหลุมศพในสุสานปาร์ซีที่เก่าที่สุด ระบุปีมรณกรรมของผู้ตายไว้ในปี พ.ศ. 2373[5] ชาวปาร์ซีจะปรับตัวให้กลมกลืนไปกับชนส่วนใหญ่ ไม่สู้เผยแผ่ศาสนาและวัฒนธรรมของตน[4] เบื้องต้นชาวปาร์ซีรับราชการอยู่ในกรมรถไฟหลวง ยุคหลังก็พบว่าพวกเขาประกอบธุรกิจอื่น เช่น ตระกูลบีโรซา ทำกิจการนำเข้าและส่งออกสินค้า ต่อมาลูกหลานมีบทบาทด้านการพยาบาล และตระกูลเปสตันยี ที่มีชื่อเสียงในแวดวงภาพยนตร์ คือ รัตน์ เปสตันยี[5]

ภาษา

[แก้]

ภาษาของชาวไทยเชื้อสายอินเดียในปัจจุบันเหลือจำนวนผู้พูดน้อย เนื่องจากชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ร้อยละ 80 เกิดในแผ่นดินไทย หลายคนจึงหันมาพูดภาษาไทยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีส่วนน้อยที่สามารถพูดภาษาดั้งเดิมของตนเองได้ และบางคนก็ผสมกลมกลืนกับชาวไทยทั่วไป ชาวไทยเชื้อสายอินเดียบางส่วนที่ทำงานทางด้านเศรษฐกิจ บางส่วนสามารถพูดภาษาจีนได้ โดยเฉพาะภาษาจีนแต้จิ๋วซึ่งถือเป็นภาษากลางในการสื่อสารของชาวไทยเชื้อสายจีน[6]

ชาวไทยเชื้อสายอินเดียที่มีชื่อเสียง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ภัทรียา พัวพงศกร (24 พฤษภาคม 2562). "แกะรอยแฟชั่นไทยยุคโบราณ จากผ้าห่อคัมภีร์ใบลานและชุมชนมุสลิมในธนบุรี". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ศราวุฒิ อารีย์ (19 สิงหาคม 2559). "ดาวูดีโบห์รา : อีกกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในประเทศไทย". คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง (28 เมษายน 2559). "สรุปงานเสวนาเรื่อง แขกตึกขาวกับเรื่องราวการค้าในสยาม". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 4.2 ศตนันทน์ สุทิฏฐานุคติ (28 มกราคม 2563). "สืบร่องรอยชาวอินเดียในไทยบนถนนสีลม-เจริญกรุง". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์, ดร. (4 ธันวาคม 2560). "ปาร์ซีแห่งสยามกับการนำสยามสู่ความทันสมัย". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. อดุลย์ รัตนมั่นเกษม. กำเนิดและวิวัฒนการของคนแต้จิ๋วอดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : ขุนเขา, หน้า 209