ไอคอนสยามและอาคารชุดที่พักอาศัยแมกโนเลียส์ ริเวอร์ไซด์ | |
ที่ตั้ง | 168, 259, 289, 299 ถนนเจริญนคร แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร |
---|---|
พิกัด | 13°43′36″N 100°30′38″E / 13.726690°N 100.510498°E |
เปิดให้บริการ | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561[1] 11 มกราคม พ.ศ. 2566 (ไอซีเอส) | (ไอคอนสยาม)
ผู้บริหารงาน | บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และ บริษัท ไอซีเอส จำกัด โดย |
สถาปนิก | เออร์เบิ้น อาร์คิเต็คส์ |
จำนวนชั้น | 10 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน 2 ชั้น) |
ที่จอดรถ | 5,000 คัน |
ขนส่งมวลชน | สถานีเจริญนคร รถโดยสารประจำทาง 3(2-37), 6(4-1), 84(4-46), 89(4-47), 105(4-18), 111(4-20), 120(4-21), 149(4-53), 4-35,รถสี่ล้อเล็ก ซิตี้ไลน์ ท่าเรือไอคอนสยาม 2 ธงแดง ธงส้ม ประจำทาง ท่าเรือไอคอนสยาม 1 |
เว็บไซต์ | www |
ไอคอนสยาม (ชื่อเดิม: บางกอก เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ ไอ-ซิตี้[2]) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมบนพื้นที่ 50 ไร่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณซอยเจริญนคร 5 ถนนเจริญนคร และ 5 ไร่บริเวณฝั่งตรงข้ามใกล้ปากซอยเจริญนคร 4 ในพื้นที่แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เกิดจากการร่วมทุนกันระหว่าง สยามพิวรรธน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดิเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น มีพิธีเปิดโครงการในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
โครงการไอคอนสยามประกอบด้วย
โดยพื้นที่ทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยถนนภายในโครงการและสถานีเจริญนคร ของรถไฟฟ้าสายสีทอง
ไอคอนสยามเกิดจากการร่วมทุนกันของสยามพิวรรธน์, เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดิเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC ในกลุ่มกิจการ DTGO) มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 51:24.5:24.5 ตามลำดับ[3]
ไอคอนสยามตั้งอยู่ในพื้นที่เดิมของโรงสีสิบเก้า และตลาดศิรินทร์[4] ซึ่งต่อมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท สยามอรุณ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในเครือศรีกรุงวัฒนา[5] โดยพื้นที่โครงการตั้งอยู่ระหว่างโรงแรมเพนนินซูล่า กับโรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ นอกจากนี้ยังอยู่ตรงข้ามกับโรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน กรุงเทพ, โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ และอาคารโทรคมนาคมแห่งชาติ สาขาบางรัก
ไอคอนสยามเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557[6] มีมูลค่าการลงทุนเมื่อเริ่มโครงการ 35,000 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 50,000 ล้านบาท[7] และ 54,000 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น[8] โดยครึ่งหนึ่งเป็นเงินลงทุนของบริษัทพันธมิตรทั้ง 3 บริษัท ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นสินเชื่อที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารธนชาต ร่วมเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งผู้ร่วมทุนทั้ง 3 บริษัทได้วางแผนในการเชื่อมโยงโครงการเข้ากับโรงแรม ศูนย์การค้า และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา[7][9]
ไอคอนสยามจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ในชื่อ "มหาปรากฏการณ์งานเปิดเมืองไอคอนสยาม" โดยในช่วงเช้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการด้วยพระองค์เอง[1][10][11][12] และในช่วงค่ำได้มีการจัดการแสดงในชุด "โรจนนิรันดร" ที่เป็นการผสมผสานระหว่างนาฏศิลป์ไทยแขนงต่าง ๆ และกายกรรมผาดโผน รวมถึงมีการเปิดตัว "เรือสำเภาศรีมหาสมุทร" ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำแห่งแรกของประเทศไทย[13] ตลอดจนมีการแสดงแปรขบวนของโดรนจากอินเทล จำนวน 1,400 ลำ และการแสดงคอนเสิร์ตของ อลิเชีย คีส์ รวมถึงการแสดงแสง สี เสียง ไปยังอาคารชุดเพื่อการพักอาศัยทั้ง 2 อาคารในโครงการด้วย[14]
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน มีผู้เข้าร่วมพิธีเปิดจำนวนประมาณ 150,000 คน และในวันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการเป็นวันแรก มีจำนวนประชาชนเข้าใช้บริการประมาณ 200,000 คน[15] นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ยังมีมินิคอนเสิร์ตของศิลปินจากซีรีส์ รักใสใส หัวใจสี่ดวง ฉบับประเทศจีน[16]
ในช่วงครึ่งปีแรกหลังการเปิดไอคอนสยาม ได้มีการเปิดร้านค้าอีก 20-25 แบรนด์ อาทิ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร รวมถึงบริการต่าง ๆ อย่าง ไอคอน บาย ฟิตเนสเฟิร์ส สถานที่ออกกำลังกายสาขาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ศูนย์ประชุมมาตรฐานระดับโลกซึ่งร่วมทุนกับทรู คอร์ปอเรชั่น
จากสถิติหลังการเปิด 1 ปี (ข้อมูลปี พ.ศ. 2562) ไอคอนสยามมีผู้เข้ามาใช้บริการในวันปกติเฉลี่ย 80,000-120,000 คนต่อวัน ส่วนในวันเทศกาล เช่น วันสิ้นปี วันขึ้นปีใหม่ วันลอยกระทง วันสงกรานต์ มีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 200,000-350,000 คนต่อวัน และมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ 35% โดยมีกลุ่มหลัก ๆ คือชาวจีน เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย และกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ทำให้มียอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวประมาณ 10,000-15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าศูนย์การค้าทั่วไปในประเทศไทย[17]
โครงการไอคอนสยามมีการออกแบบโดยใช้แนวคิด "เมืองแห่งความรุ่งโรจน์อันเป็นนิรันดร์" (The Icon of Eternal Prosperity) มีพื้นที่โครงการรวมทั้งหมด 750,000 ตารางเมตร นับเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย รองจากเซ็นทรัลเวิลด์ ตัวอาคารหลักออกแบบโดยบริษัท เออร์เบิ้น อาร์คิเต็คส์ จำกัด และมีบริษัทสถาปนิก ฟอสเตอร์ + พาร์ตเนอร์ส จากประเทศอังกฤษ เป็นที่ปรึกษาโครงการ[18] ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมไทย กระทง บายศรี และสไบ ในโครงการประกอบด้วยพื้นที่สำคัญ ดังนี้
ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เป็นศูนย์การค้าในอาคารหลัก บริหารงานโดย บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ซึ่งกลุ่มสยามพิวรรธน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ภายในพื้นที่ศูนย์การค้า ประกอบด้วยร้านค้าแฟชัน ร้านสินค้าเทคโนโลยี ร้านสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ร้านอาหาร มีจุดเด่นบริเวณโถงกลางชั้น M จนถึงชั้น 2 ออกแบบโครงสร้างอาคารให้เป็นแบบ 2 อาคารขนานกันภายใต้อาคารหลักหลังเดียว โดยอาคารดังกล่าวเป็นที่ตั้งของร้านต่าง ๆ อาทิ เอชแอนด์เอ็ม และคาเฟ่ % อะราบิกา สาขาแรกในประเทศไทย รวมถึงมี ฟิตเนส เฟิร์สท์ คลับไอคอน สถานออกกำลังกายฟิตเนส เฟิร์สท์ สาขาใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย[19][20] นอกจากนี้อาคารฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีจุดเด่นเป็นร้านแอปเปิลสโตร์สาขาแรกในประเทศไทย และเป็นสาขาที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากประเทศสิงคโปร์[21]
ในส่วนโถงกลางบริเวณชั้น 3 ถึง 5 บริหารงานโดย บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ประกอบด้วย
ศูนย์การค้าไอคอนลักซ์ เป็นอาคารศูนย์การค้าขนาดเล็กในอาคารหลักบริเวณฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในพื้นที่ศูนย์การค้า ประกอบด้วยร้านค้าสินค้าระดับหรูหรา ร้านค้าแฟชัน ร้านสินค้าเทคโนโลยี และห้องแสดงรถยนต์ โดยชั้นหลังคาของไอคอนลักซ์ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าแอปเปิลสโตร์ เป็นที่ตั้งของไอคอนสยามพาร์ค ซึ่งเป็นสวนหย่อมและสวนประติมากรรมกลางแจ้ง โดยโครงการได้ออกแบบภูมิสถาปัตย์ในบริเวณนี้ร่วมกับแอปเปิล เพื่อเปิดหน้าร้านแอปเปิลสโตร์ให้มีความโดดเด่นกลางแม่น้ำเจ้าพระยา[23] นอกจากนี้ไอคอนลักซ์ยังเป็นที่ตั้งของ "บลู บาย อลัง ดูคาส" ภัตตาคารอาหารฝรั่งเศสที่ได้รับดาวมิชลินหนึ่งดวง จากการจัดอันดับของมิชลินไกด์ ในปี พ.ศ. 2564 และ 2565 และเป็นหนึ่งในภัตตาคารดีที่สุดในเอเชีย[24]
ไอคอนสยามเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าสยามทาคาชิมาย่า ห้างสรรพสินค้าในกลุ่มทาคาชิมาย่าสาขาแรกในประเทศไทย บริหารงานโดย บริษัท สยาม ทาคาชิมาย่า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งกลุ่มทาคาชิมาย่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีพื้นที่ 36,000 ตารางเมตร[25][26] โดยเป็นสาขานอกประเทศญี่ปุ่นที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุด ภายในนอกจากจะมีการแบ่งเป็นแผนกต่าง ๆ เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าโดยทั่วไปแล้ว ยังมีศูนย์อาหารโรส ฟู้ด อเวนิว, ตลาดทากะ มาร์เช, นิโตริ และโซนรวมร้านอาหารเอเชีย โรส ไดน์นิ่ง อีกด้วย[27]
ไอคอนสยามเป็นที่ตั้งของ เดียร์ ทัมมี ซูเปอร์มาร์เก็ตและฟู้ดมาร์เก็ตที่นำเสนอสินค้าและร้านอาหารระดับพรีเมียมบนพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร เป็นการร่วมลงทุนระหว่างสยามพิวรรธน์และกูร์เม่ต์ เอเชีย ประกอบไปด้วยพื้นที่ 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาดอาหาร
นอกจากนี้ไอคอนสยามยังมีโซนร้านอาหารอีกห้าส่วนหลัก ๆ ได้แก่
ในโซนอลังการนั้น ด้านบนเพดานฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีประติมากรรม น้ำตกฝนทิพย์ ความสูง 15 เมตร จุดเด่นอยู่ที่การสลักฐานน้ำเป็นรูปทรงต่าง ๆ โดยส่วนบนสุดของประติมากรรมสลักเสมือนเป็นเลข ๙ ออกแบบโดย Ghesa Water & Art[30] ที่ชั้นเดียวกันนั้นยังเป็นที่ตั้งของ ทัศนานคร เทอเรส พื้นที่ร้านอาหารมุมสูงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งประกอบไปด้วยภัตตาคารระดับไฟน์-ไดนิ่งและบาร์กึ่งเอาท์ดอร์สองร้านคือ ฮอบส์ และ ฟาลาเบลลาร์ ริเวอร์ฟร้อนท์ และ ภัตตาคารเกรท ฮาร์เบอร์ อินเตอร์เนชันแนล บุฟเฟต์ ภัตตาคารนานาชาติจากประเทศไต้หวัน บริหารงานโดย บริษัท ซีพี ไห่หลาย ฮาร์เบอร์ จำกัด ซึ่งเจริญโภคภัณฑ์อาหารหรือซีพีเอฟ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับกลุ่มทุนไห่หลายกรุ๊ป ของโหว ซี ฟง มหาเศรษฐีของไต้หวัน[31] นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียง ยังเป็นที่ตั้งของ สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านสตาร์บัคส์ที่มีสาขาใหญ่[32][33] และเป็นร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งที่สองของไทยต่อจากสาขาถนนหลังสวนด้วย[34]
ไอคอนสยาม มีโรงภาพยนตร์ประกอบกิจการหนึ่งแห่ง คือ ไอคอน ซีเนคอนิค เป็นโรงภาพยนตร์ที่บริหารงานโดยเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ออกแบบภายใต้แนวคิด "สัญลักษณ์ใหม่ของโรงภาพยนตร์ระดับโลก" (The New World-class Cinematic Icon) เน้นความหรูหรา ผสานกับเทคโนโลยีการฉายอันล้ำสมัย และบริการระดับเดียวกับโรงแรมหกดาว ภายในประกอบไปด้วยโรงภาพยนตร์จำนวน 14 โรง[27] มีจุดเด่นที่ทุกโรงภาพยนตร์ใช้เครื่องฉายระบบเลเซอร์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย มีโรงภาพยนตร์ที่ตกแต่งเสมือนห้องนั่งเล่นในชื่อ Cineconic Living Room ซึ่งให้บริการฉายภาพยนตร์และเป็นพื้นที่กิจกรรมแบบเช่าเหมาโรง และยังมีโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ โฟร์ดีเอ็กซ์ สกรีนเอ็กซ์ และดอลบี แอทมอส ระบบละ 1 โรง[35]
ไอคอนสยามยังเป็นที่ตั้งของ ไอคอนเอ็ดดูเคชั่น ศูนย์การเรียนรู้ ร้านหนังสือ สนามเด็กเล่นขนาดเล็ก และ เมกา ฮาร์เบอร์แลนด์ สวนสนุกและศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่สำหรับเด็ก พื้นที่ 5,000 ตารางเมตร[36]
ไอคอนสยามยังแบ่งพื้นที่จัดกิจกรรมออกเป็นหลายส่วน ได้แก่
ไอคอนสยาม ประกอบด้วยอาคารที่พักอาศัย 2 อาคาร ได้แก่
นอกจากนี้ ไอคอนสยามได้ก่อสร้างอาคารในระยะที่ 2 บนพื้นที่ 5 ไร่ ฝั่งตรงข้ามของถนนเจริญนคร บริเวณปากซอยเจริญนคร 4 ในชื่อ ไอซีเอส (ICS) โดยใช้แนวคิดเมืองผสมผสานที่สร้างความสุขในการใช้ชีวิตได้ทุกวัน ประกอบด้วยร้านค้าและร้านอาหารเพิ่มเติมจากอาคารหลัก ไฮเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมียม โลตัส พรีเว่, สปอร์ตส์เวิลด์, อาคารสำนักงานไอซีเอส ทาวเวอร์, ศูนย์สุขภาพ ศิริราช เอช โซลูชันส์ โดยความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[44][45] และโรงแรมฮิลตัน การ์เดน อินน์ แบงค็อก ริเวอร์ไซด์ จำนวน 241 ห้อง[20][46] โดยเปิดอย่างไม่เป็นทางการในชั้น B1 ถึงชั้น 1 เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2566[47][48] จากนั้นเปิดอย่างเป็นทางการในชั้น 2 ถึงชั้น 4 รวมถึงอาคารสำนักงานเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566[49] ต่อมาเปิดให้บริการศิริราช เอช โซลูชันส์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566[50] และเปิดให้บริการโรงแรมฮิลตัน การ์เดน อินน์ แบงค็อก ริเวอร์ไซด์ เป็นส่วนสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2567[51]
ไอคอนสยามเคยเป็นที่ตั้งของสวนสนุกซุปเปอร์พาร์ค สวนสนุกจากประเทศฟินแลนด์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ถือเป็นสาขาที่สามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย[52] และเป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่อันดับสาม รองจากสาขาในประเทศฟินแลนด์และฮ่องกง[53] แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563 ทางสวนสนุกประกาศปิดปรับปรุงชั่วคราวเพื่อซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำ และระบบไฟฟ้าภายในโครงการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจากการพัดถล่มของพายุโซนร้อนโนอึลเมื่อวันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ. 2563 จนระบบสาธารณูปโภคของไอคอนสยามไม่สามารถระบายน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องได้ทัน ทำให้พื้นที่บางส่วนรวมถึงเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ควบคุมเครื่องได้รับความเสียหายทั้งหมด ทั้งนี้ การปิดปรับปรุงเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากความเสียหายกินพื้นที่เกินกว่าที่คาดการณ์ และต้องเดินสายไฟภายในโครงการใหม่ทั้งหมด รวมถึงนโยบายของศูนย์การค้าไอคอนสยาม ที่เปิดให้ผู้เช่าซ่อมบำรุงพื้นที่ได้เฉพาะในเวลาปิดทำการเท่านั้น ทำให้ทางสวนสนุกประกาศปิดปรับปรุงอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563 คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณสองสัปดาห์[54] จนในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ศูนย์การค้าไอคอนสยามได้ตั้งป้ายประชาสัมพันธ์หน้าสวนสนุกว่า "SUPER PARK ได้ปิดให้บริการอย่างถาวรและปัจจุบันไม่ได้เป็นผู้เช่าหลักของไอคอนสยามแต่อย่างใด" ทำให้สร้างความสงสัยและเกิดการเรียกร้องขอเงินคืนอย่างหนักจากฝั่งลูกค้า[55][56] ปัจจุบันพื้นที่ของสวนสนุกซุปเปอร์พาร์คได้ถูกพัฒนาต่อเป็น เมกา ฮาร์เบอร์แลนด์ โดยผู้พัฒนาสวนสนุกและศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กจากจังหวัดชลบุรี
ท่าก่อนหน้า | เส้นทางเดินเรือ | ท่าต่อไป | ||
---|---|---|---|---|
ท่าสี่พระยา มุ่งหน้า ท่าน้ำนนทบุรี |
เรือด่วนเจ้าพระยา | ท่าวัดม่วงแค มุ่งหน้า ท่าวัดราชสิงขร | ||
ท่าราชวงศ์ มุ่งหน้า ท่าพรานนก |
เรือด่วนพิเศษธงทอง | ท่าสาทร มุ่งหน้า ปลายทาง | ||
ท่าล้ง 1919 มุ่งหน้า ท่าพระอาทิตย์ |
เรือท่องเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยา | ท่าสาทร มุ่งหน้า ท่าวัดราชสิงขร |
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 เกิดเหตุเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของไอคอนสยามทำร้ายร่างกายเบนจา อะปัญ นักกิจกรรมนักศึกษา แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม และแนวร่วมกลุ่มราษฎร ที่แสดงออกทางการเมืองในพื้นที่ศูนย์การค้า[69] โดยชูป้ายที่มีข้อความทำนองว่า การผูกขาดวัคซีนโควิด-19 เป็นการสร้างความชอบให้สถาบันพระมหากษัตริย์[70] ด้านไอคอนสยามออกมาชี้แจงว่าจะสอบสวนผู้ก่อเหตุ และขอความร่วมมืองดการแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่[71] ในช่วงเย็น มีการจัดการประท้วงอย่างฉับพลันในห้าง และเกิดแฮชแท็ก #แบนไอคอนสยาม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ของประเทศ ก่อนจะยุติการชุมนุมไปเมื่อผู้บริหารออกมารับปากว่าจะลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุ และเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยอมกล่าวขอโทษ[72] ต่อมา เพจเฟซบุ๊กของไอคอนสยามเองได้โพสต์ข้อความว่า จากการสอบสวนกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมนั้น ไม่ได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ และไม่เป็นไปตามกฎระเบียบของบริษัท จนก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนดังกล่าวเข้าใจและรับรู้ พร้อมทั้งแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก โดยมีผลทันที[73]
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date=
(help)
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
ก่อนหน้า | ไอคอนสยาม | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
คิง เพาเวอร์ มหานคร | อาคารที่สูงที่สุดในไทย (แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนเซส) (พ.ศ. 2561 – ปัจจุบัน) |
- |