ปูทะเล

ปูทะเล
Scylla serrata
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์ขาปล้อง
Arthropoda
ไฟลัมย่อย: Crustacea
Crustacea
ชั้น: Malacostraca
Malacostraca
อันดับ: Decapoda
Decapoda
อันดับย่อย: Pleocyemata
Pleocyemata
อันดับฐาน: Brachyura
Brachyura
วงศ์: วงศ์ปูว่ายน้ำ
Portunidae
วงศ์ย่อย: Portuninae
Portuninae
สกุล: Scylla
Scylla
De Haan, 1833

ปูทะเล เป็นปูในสกุล Scylla ในวงศ์ปูว่ายน้ำ (Portunidae) อาศัยอยู่ในทะเล มี 4 ชนิด[1][2] โดยที่ S. serrata พบได้แพร่หลายที่สุด ปูเหล่านี้พบได้ทั่วอินโด-แปซิฟิกตะวันตก[3] ปูทะเล 4 ชนิดนั้น แบ่งได้ังนี้:[4][2]

ภาพ ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ ที่อยู่อาศัย
Scylla olivacea (Herbst, 1796) ปูดำ, ปูแดง, ปูทองแดง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงปากีสถาน และจากญี่ปุ่นถึงออสเตรเลียตอนเหนือ
Scylla paramamosain Estampador, 1949 ปูขาว, ปูทองหลาง ทะเลจีนใต้ตอนใต้ถึงทะเลชวา
Scylla serrata (Forskål, 1775) ปูเขียว, ปูทองโหลง ญี่ปุ่นตอนใต้ถึงออสเตรเลียตะวันออกเฉียงใต้ นิวซีแลนด์ตอนเหนือ
Scylla tranquebarica (Fabricius, 1798) ปูม่วง ปากีสถานและไต้หวันถึงกลุ่มเกาะมลายูและภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอื่น ๆ

ลักษณะ

[แก้]

มีลักษณะกระดองกลมรีเป็นรูปไข่ สีดำปนแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม ขอบระหว่างนัยน์ตามีหนาม 4 อัน ส่วนด้านข้างนัยน์ตาแต่ละข้างมีหนามข้างละ 8-9 อัน ก้ามจะมีหนามแหลม ส่วนขาอื่น ๆ ไม่มีหนาม ตัวผู้จะมีก้ามขนาดใหญ่แข็งแรงกว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด เจริญเติบโตด้วยวิธีการลอกคราบ โดยตรงขอบหลังของกระดองจะเผยออกให้เห็นกระดองใหม่ยังเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ซึ่งเรียกว่า ปูสองกระดอง ถ้าหากเป็นตัวเมียที่มีความสมบูรณ์เพศจะมีไข่อยู่ในกระดอง ซึ่งพบมากในเดือนพฤศจิกายน ปลายสุดของขาคู่ที่ 2-4 มีลักษณะแหลมเรียกว่า "ขาเดิน" ทำหน้าที่ในการเดินเคลื่อนที่ ส่วนขาคู่ที่ 5 เป็นคู่สุดท้ายเรียกว่า "ขาว่ายน้ำ"ตอนปลายสุดของขาคู่นี้มีลักษณะแบนคล้ายใบพาย ใช้สำหรับว่ายน้ำ

การขยายพันธุ์

[แก้]

ฤดูกาลวางไข่ผสมพันธุ์ของปูทะเลอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม แม่ปูจะมีไข่ในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม สามารถ วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยจะวางไข่ชุกชุมในระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ไข่ของปูทะเลจะมีสีส้มแดง เมื่อไข่แก่ขึ้นจะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ ซึ่งจะถูกปล่อยออกมานอกกระดองบริเวณใต้จับปิ้ง[5]

ปูที่เกิดใหม่จะอยู่ในระยะซูเอี้ย ดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอน ล่องลอยตามมวลน้ำ หลังผ่านการลอกคราบ 5 ครั้ง จึงพัฒนาเข้าสู่ระยะเมกาโลปา[1] ยังคงดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอน เมื่อเมกาโลปาลอกคราบจึงลงสู่พื้นท้องน้ำดำรงชีวิตเป็นสัตว์หน้าดิน การเจริญเติบโตจนถึงวัยเจริญพันธุ์ใช้เวลาประมาณ 1.5 ปี ตัวผู้ขนาดโตเต็มที่อาจหนักได้ถึง 3.5 กิโลกรัม ขนาดกระดองกว้างกว่า 24 เซนติเมตร

การกระจายพันธุ์และความสำคัญต่อมนุษย์

[แก้]
ปูทะเลมีชีวิตในตลาดสดที่ออสเตรเลีย

พบกระจายพันธุ์อยู่ตามแถบชายฝั่งของแอฟริกา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงออสเตรเลีย โดยอาศัยอยู่ในโคลนตมตามป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำที่น้ำท่วมถึง กินอาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซากพืช ซากสัตว์ต่าง ๆ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน

ปูทะเลนั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์ในฐานะของสัตว์เศรษฐกิจที่นิยมนำมาปรุงสดเป็นอาหาร เช่น ปูผัดผงกะหรี่, ปูนึ่ง เป็นต้น โดยทางการ ได้แก่ กรมประมง สนับสนุนให้เกษตรกรเพาะเลี้ยง โดยมักจะเลี้ยงในกระชังใกล้กับทะเล เช่น ในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ของกรุงเทพมหานคร ถึงขนาดจัดเป็นเทศกาลท่องเที่ยวโดยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)[6]

ปูทะเลเป็นที่นิยมรับประทานอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเวลาที่กำลังลอกคราบเพราะเนื้อปูจะนิ่ม กระดองยังไม่แข็งเท่าไหร่ ซึ่งเรียกว่า "ปูนิ่ม"[7]

ที่ประเทศจีนมีตู้อัตโนมัติหยอดเหรียญจำหน่ายปูทะเลด้วย โดยจำหน่ายใส่กล่องพลาสติกกล่องละตัว[8] และในประเทศญี่ปุ่นมีการดัดแปลงให้เป็นลักษณะตู้คล้ายตู้คีบตุ๊กตา[9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 สำนักงานวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง. "การเพาะเลี้ยงปูทะเล" เกษตรปราดเปรื่อง (Smart farmer) สืบค้นเมื่อ 2023-07-27
  2. 2.0 2.1 Peter K. L. Ng; Danièle Guinot & Peter J. F. Davie (2008). "Systema Brachyurorum: Part I. An annotated checklist of extant Brachyuran crabs of the world" (PDF). Raffles Bulletin of Zoology. 17: 1–286. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-06-06. สืบค้นเมื่อ 2023-08-27.
  3. L. Le Vay (2001). "Ecology and management of mud crab Scylla spp". Asian Fisheries Science. 14: 101–111. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-25.
  4. Keenan, Clive P.; Davie, Peter J.F.; Mann, David L. (1998). "A revision of the genus Scylla de Haan, 1833 (Crustacea: Decapoda: Brachyura: Portunidae)". The Raffles Bulletin of Zoology. 46 (1): 217–245.
  5. "การเพาะเลี้ยงปูทะเล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-05. สืบค้นเมื่อ 2010-05-30.
  6. "ตามรอย 5 แหล่งกินปูสุดเด็ดของไทย อร่อยถูกใจนักชิม". ผู้จัดการออนไลน์. 2014-03-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-06. สืบค้นเมื่อ 2017-04-23.
  7. "สารคดีเกษตร ปูนิ่ม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-29. สืบค้นเมื่อ 2010-05-30.
  8. nueak (2010-10-24). "ตู้ขายปูเป็นๆ อัตโนมัติ ที่ประเทศจีน". พันทิปดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 2017-04-23.
  9. "Love Hokkaido (Ep05) : ตะลุยกินของดีฤดูหนาว ในฮอกไกโดตะวันออก เก็บถาวร 2023-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". trippino-hokkaido. 2017-03-24. สืบค้นเมื่อ 2017-04-23.