แอลคะเฮสต์ | |
---|---|
ผู้พัฒนา | ฮัลแลบบอราทอรี |
ผู้จัดจำหน่าย | สแควร์ |
กำกับ | อัตสึชิ คากูตะ |
อำนวยการผลิต | ซาโตรุ อิวาตะ |
ออกแบบ | อัตสึชิ คากูตะ |
โปรแกรมเมอร์ | ฮิโรอากิ ซูงะ |
ศิลปิน | ฮิโตชิ โยชิกาวะ อาร์. อิชิดะ ซาโตชิ อิชิดะ |
แต่งเพลง | จุง อิชิกาวะ |
เครื่องเล่น | ซูเปอร์แฟมิคอม |
วางจำหน่าย |
|
แนว | แอ็กชัน |
รูปแบบ | ผู้เล่นเดี่ยว |
แอลคะเฮสต์[a] (อังกฤษ: Alcahest) เป็นเกมแอ็กชันที่พัฒนาโดยบริษัทฮัลแลบบอราทอรี และเผยแพร่โดยบริษัทสแควร์สำหรับซูเปอร์แฟมิคอม ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมบริษัทสแควร์ที่ไม่ได้พัฒนาแต่ได้เผยแพร่เอง โดยควบคุมนักดาบชื่อแอเลน ซึ่งเริ่มต้นการเดินทางเพื่อหยุดยั้งเผ่าปีศาจที่นำโดยบาบิโลม ผู้เป็นจักรพรรดิที่วางแผนจะพิชิตโลกด้วยกองทัพจักรวรรดิของเขา และเทพอสูรโดยตำแหน่งผู้ฟื้นคืนชีพจากความพ่ายแพ้ครั้งก่อนเมื่อพันปีก่อน โดยผู้เล่นสำรวจและค้นหาไอเทมเพื่อความก้าวหน้าและเพาเวอร์-อัป รวมถึงต่อสู้กับบอสและมินิบอส ในระหว่างการเล่นเกม แอเลนได้พบกับผู้พิทักษ์ที่ช่วยเหลือเขาด้วยพลังของพวกเขา รวมถึงพันธมิตรที่ร่วมทางกับเขาตลอดทาง
เกมดังกล่าวได้รับการประกาศครั้งแรกใน ค.ศ. 1992 ภายใต้ชื่อชั่วคราวคือการ์เดียนเบลด และแอลคะเฮสต์ได้รับการสร้างขึ้นโดยบริษัทฮัลแลบบอราทอรี ซึ่งเป็นที่รู้จักจากผลงานแฟรนไชส์เคอร์บี เกมนี้กำกับและออกแบบโดยอัตสึชิ คากูตะ โดยมีซาโตรุ อิวาตะ ประธานบริษัทนินเท็นโดผู้ล่วงลับรับหน้าที่ผู้อำนวยการผลิต ส่วนเพลงแต่งโดยจุง อิชิกาวะ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากผลงานซีรีส์เคอร์บี เกมดังกล่าวได้รับการเสริมด้วยหนังสือแนะนำกลยุทธ์ แม้ว่าจะไม่ได้เผยแพร่อย่างเป็นทางการนอกประเทศญี่ปุ่น แต่ก็มีการเผยแพร่การแปลโดยแฟน ๆ เป็นภาษาอังกฤษใน ค.ศ. 2002 ไม่เคยได้รับการเปิดตัวซาวด์แทร็กอย่างเป็นทางการซึ่งแตกต่างจากเกมของบริษัทสแควร์อื่น ๆ แม้ว่าธีมหลักของเพลงจะรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของอัลบัมรวมเพลงที่เผยแพร่ใน ค.ศ. 2017 ก็ตาม
แอลคะเฮสต์ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักวิจารณ์ที่มองในฐานะเกมนำเข้า โดยได้รับการยกย่องในด้านต่าง ๆ เช่น เอนจินกราฟิกที่ละทิ้งการทำให้ตัวการ์ตูนมีรูปร่างผิดสัดส่วนที่มีอยู่ดกดื่นในระบบซูเปอร์แฟมิคอม, การควบคุมที่ใช้งานง่าย, การผสมผสานองค์ประกอบเกมแอ็กชันและเกมเล่นตามบทบาท, ความหลากหลายของพันธมิตร, การออกแบบเลเวลที่หลากหลายและลื่นไหล, รูปแบบการเล่นสไตล์อาร์เคดที่เรียบง่ายแต่เปลี่ยนแปลงได้, การเข้าถึงเนื่องจากการใช้ภาษาญี่ปุ่นเพียงเล็กน้อยและความท้าทาย บรรดานักวิจารณ์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่ารูปแบบและระบบการต่อสู้ของเกมชวนให้นึกถึงเซลดาและโซลเบลเซอร์ แต่ส่วนใหญ่รู้สึกผสมกันเกี่ยวกับดนตรี ในขณะที่การติเตียนมุ่งไปที่ปริศนา, การขาดปฏิสัมพันธ์ของตัวละครที่เหมาะสม, ความสั้นของเกม, บทเกม และดันเจียนซ้ำ ๆ
แอลคะเฮสต์เป็นเกมรูปแบบอาร์เคดที่เล่นจากมุมมองจากบนลงล่าง คล้ายกับเกมอย่างกอนต์เล็ต (ค.ศ. 1985), เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา, ดันเจียนเอกซ์พลอเรอร์ และโซลเบลเซอร์[1][2][3][4] หนังสืออะไกด์ทูแจพานีสโรลเพลย์อิงเกมส์อธิบายว่าเกมดังกล่าวเป็นเกมแอ็กชันในชุดสวมบทบาท (RPG)[5] โดยเนื้อเรื่องเกิดขึ้นในโลกที่จักรพรรดินำกองทัพของเขาไปสู่การพิชิตราชอาณาจักรแพนาเคีย ท่ามกลางการฟื้นคืนชีพของเทพอสูรแอลคะเฮสต์ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อพันปีก่อนได้พ่ายแพ้นักดาบที่ได้รับความช่วยเหลือด้วยพลังของเหล่าผู้พิทักษ์ ส่วนบาบิโลมผู้เป็นทูตจากนรก พยายามขัดขวางไม่ให้นักดาบกลับชาติมาเกิดก่อนที่จะใช้ขีดความสามารถสูงสุดของเขา[3][6][7][8]
ผู้เล่นจะสวมบทบาทเป็นนักดาบชื่อชื่อแอเลน ในแปดด่านที่เต็มไปด้วยบล็อกต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนเขาไปข้างหน้าหรือส่งเขากระโดดข้ามไปยังพื้นที่อื่น สำรวจและค้นหาไอเทมและเพาเวอร์-อัป ในขณะที่ต่อสู้กับศัตรูและบอส[1][5][6][9][10] ในระหว่างการเดินทางเพื่อหยุดแอลคะเฮสต์ ผู้เล่นได้พบกับพันธมิตรที่เข้าร่วมทีมของแอเลนทีละคน พวกเขาคือพ่อมดหนุ่มที่ชื่อการ์สไตน์, เจ้าหญิงที่ชื่อเอลิกชิล, อัศวินที่ชื่อซิเรียส, หุ่นยนต์ที่ชื่อแมกนา และเทพีมังกรแปลงร่างที่ชื่อนีวิส โดยเหล่าพันธมิตรโจมตีและใช้พลังพิเศษ แต่ไม่สามารถควบคุมได้โดยตรง และต้องใช้ค่าพิเศษ (SP) สำหรับท่าพิเศษ[1][2][3][5][11]
ผู้เล่นโจมตีศัตรูโดยใช้ดาบที่บรรดาผู้พิทักษ์มอบแก่แอเลน ซึ่งแอเลนยังสามารถโจมตีแบบพุ่งตัวขณะวิ่งและบล็อกโพรเจกไทล์ของศัตรูด้วยการยืนนิ่งพร้อมกับโล่ของเขา[6][8] รวมทั้งหลังจากการต่อสู้กับบอสที่เฉพาะเจาะจง ผู้เล่นจะได้รับความสามารถของหนึ่งในสี่ผู้พิทักษ์ตามธาตุคลาสสิก โดยแอเลนสามารถชาร์จดาบของเขาเพื่อการโจมตีพิเศษ ซึ่งจะต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับความสามารถของธาตุที่เลือก ส่วนพลังเวทมนตร์ (MP) ใช้เพื่อเรียกผู้พิทักษ์ในการต่อสู้ และผู้เล่นสามารถสลับไปมาระหว่างแต่ละคนได้[1][2][3][7][12] อนึ่ง แอเลนได้รับค่าประสบการณ์ (EXP) จากการกำจัดศัตรู และผู้เล่นจะได้รับคันทินิวเพิ่มเติมหลังจากได้รับคะแนนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อเล่นต่อ[5][6][7][8] นอกจากนี้ เมื่อพลังชีวิตของแอเลนหมดลง ก็จะเกมโอเวอร์ แต่ผู้เล่นสามารถกลับมาดำเนินการต่อได้โดยใช้พาสเวิร์ดที่ให้ไว้เมื่อเริ่มแต่ละด่าน[6][8]
แอลคะเฮสต์ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทฮัลแลบบอราทอรี ซึ่งเป็นที่รู้จักจากผลงานแฟรนไชส์เคอร์บี[1][4][7] เกมดังกล่าวกำกับและออกแบบโดยอัตสึชิ คากูตะ โดยมีประธานบริษัทนินเท็นโดคือซาโตรุ อิวาตะ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง[7][13][14] ส่วนฮิโรอากิ ซูงะ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโปรแกรมเมอร์ ในขณะที่ภาพตัวละครจัดทำโดยศิลปินผู้มีนามว่าอาร์. อิชิดะ[13] และซาวด์แทร็กแต่งโดยจุง อิชิกาวะ ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานซีรีส์เคอร์บี[7][13][15] ซึ่งดนตรีของอิชิกาวะเน้นฉากแอ็กชันและความรู้สึกผจญภัยเบา ๆ[15] บริษัทฮัลตั้งใจจะเผยแพร่ภายใต้ชื่อการ์เดียนเบลด[b] แต่บริษัทประสบปัญหาทางการเงิน[5][16] กระทั่งบริษัทสแควร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากแฟรนไชส์ไฟนอลแฟนตาซี ได้เปลี่ยนชื่อเป็นแอลคะเฮสต์และเผยแพร่เกมนี้สำหรับซูเปอร์แฟมิคอมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1993[3][5][17][18] การเผยแพร่ดังกล่าวมาพร้อมกับคู่มือกลยุทธ์ที่เผยแพร่โดยบริษัทเอ็นทีที พับลิชชิง[6] แม้ว่าจะไม่ได้เผยแพร่อย่างเป็นทางการนอกประเทศญี่ปุ่น แต่การแปลโดยแฟน ๆ เป็นภาษาอังกฤษได้รับการเผยแพร่ใน ค.ศ. 2002 โดยแฟรงก์ ฮิวส์ (F.H.) ซึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่และแก้ไขให้ถูกต้องใน ค.ศ. 2014[7][19][20] จากนั้น ใน ค.ศ. 2017 ธีมหลักของเกมนี้ได้รวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของอัลบัมรวมผลงานที่เผยแพร่โดยไฮเปอร์ดับ[21]
การตอบรับ | ||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
แอลคะเฮสต์ได้รับการตอบรับที่ดีโดยทั่วไปจากนักวิจารณ์ที่มองในฐานะเกมนำเข้า[23][25][27][29] เกมนี้ได้รับคะแนน 21.2 จากคะแนนเต็ม 30 ในแบบสำรวจความคิดเห็นสาธารณะที่จัดทำโดยแฟมิลีคอมพิวเตอร์แมกกาซีน[30] ส่วนเทร์รี อากิ จากนิตยสารอิเล็กทรอนิกเกมมิงมันทลีมองว่าเกมนี้เป็นเกมยอดเยี่ยมที่คล้ายกันกับไฟนอลแฟนตาซี II (เวอร์ชันญี่ปุ่นคือไฟนอลแฟนตาซี IV) และซีเครตออฟมานา (เวอร์ชันญี่ปุ่นคือเซเก็นเด็นเซ็ตสึ 2) ของบริษัทสแควร์[1] รวมทั้งฌอง-ฟรองซัวส์ มอริส จากจอยแพด ยกย่องการนำเสนอภาพและเสียง, ความสมดุลระหว่างแอ็กชันและการผจญภัย, เพื่อนร่วมทางที่หลากหลาย และระบบการต่อสู้ที่ชวนให้นึกถึงเกมโซลเบลเดอร์แต่ตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้ข้อความภาษาญี่ปุ่นอาจเป็นปัญหา แต่ก็ไม่ได้ขัดขวางการผ่านทุกเลเวล[25] ส่วนโทนี มอต จากนิตยสารซูเปอร์เพลย์ยกย่องกราฟิก, รูปแบบการเล่น และการออกแบบด่านของเกม แต่ติเตียนแง่มุมต่าง ๆ เช่น ปริศนา และการขาดปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างตัวละคร[27]
แกรี แฮร์รอด และร็อบ ไบรต์ จากนินเท็นโดแมกกาซีนซิสเตม (ออฟฟิเชียลนินเท็นโดแมกกาซีน) ให้ความเห็นเชิงบวกต่อแอลคะเฮสต์สำหรับด้านกราฟิก, เสียงเอฟเฟกต์ และรูปแบบการเล่นที่สนุกสนาน แต่รู้สึกว่าดนตรีไม่ได้สื่อถึงบรรยากาศและติเตียนการกระทำที่ซ้ำซาก[26] ส่วนนิตยสารคอมพิวเตอร์และวิดีโอเกมส์ให้ความเห็นเชิงบวกเกี่ยวกับภาพและสไปรต์ที่หลากหลาย, เอฟเฟกต์เสียง และรูปแบบการเล่น แต่ติเตียนดนตรีและความซ้ำซ้อน[22] นอกจากนี้ โรเบร์โต การ์นีเชลลี จากซูเปอร์เกมเพาเวอร์ได้เน้นถึงแอ็กชันและกราฟิกที่เข้มข้นของเกม[2] ในขณะที่ปีเอฟรันโก เมเรนดา และมัสซีมีลีอาโน ดีอาโก จากซูเปอร์คอนโซลยกย่องความสามารถในการเล่นและความท้าทายเนื่องจากระดับความยากหลายเลเวล แต่ติเตียนโน้ตเพลง[28]
นิตยสารรีโทรเกมเมอร์สังเกตเห็นการผสมผสานระหว่างองค์ประกอบเกมแอ็กชันกับเกมเล่นตามบทบาท, กลไกของพันธมิตร และการเข้าถึงได้เนื่องจากการใช้ภาษาญี่ปุ่นเพียงเล็กน้อย[29][31] ส่วนซาชีจากเฌอวิดีโอ.คอม ยกย่องการออกแบบในด่านที่หลากหลาย, รูปแบบการเล่นโดยการหยั่งรู้ เช่นเดียวกับบรรดาผู้พิทักษ์และพันธมิตรที่เพิ่มความหลากหลายในการเผชิญหน้าศัตรู แต่รู้สึกผสมปนเปกับดนตรี และติเตียนความสั้นของเกม, บทเกม ตลอดจนดันเจียนที่ซ้ำซาก[24] นอกจากนี้ กงซาลู ลอปิส จากนินเท็นโดไลฟ์ได้ยกย่องแอลคะเฮสต์สำหรับการควบคุมโดยสัญชาตญาณ, รูปแบบการเล่นสไตล์อาร์เคด, เพลงของจุง อิชิกาวะ และภาพที่ละทิ้งรูปแบบการทำให้ตัวการ์ตูนมีรูปร่างผิดสัดส่วนที่มีอยู่ดกดื่นในระบบซูเปอร์แฟมิคอม[7]