Nepenthes tenuis | |
---|---|
หม้อล่างของ Nepenthes tenuis | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Caryophyllales |
วงศ์: | Nepenthaceae |
สกุล: | Nepenthes |
สปีชีส์: | N. tenuis |
ชื่อทวินาม | |
Nepenthes tenuis Nerz & Wistuba (1994) | |
ชื่อพ้อง | |
|
Nepenthes tenuis (มาจากภาษาละติน: tenuis = บาง, แหลม, เรียว) เป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงถิ่นเดียวของเกาะสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้ถูกเก็บได้ครั้งแรกใน ค.ศ. 1957 จากภูเขาที่ห่างไกลทางตะวันตกของเกาะ และถูกจำแนกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1994 และถูกค้นพบอีกครั้งในป่าปี ค.ศ. 2002 ซึ่งก่อนหน้านี้ N. tenuis มีเพียงรูปถ่ายรูปเดียวและตัวอย่างแห้งในหอพรรณไม้เท่านั้น
N. tenuis เป็นพืชเลื้อยไต่ ลำต้นผอมเรียว (หนา 2-3 มม.) เป็นเหลี่ยมหรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเมื่อตัดขวาง ปล้องยาว 5-6.5 ซม.[1]
ใบไร้ก้าน คล้ายแผ่นหนัง แผ่นใบรูปใบหอก ยาว 5-6 ซม.กว้าง 1-1.5 ซม.ปลายแหลมค่อยไสอบเรียวไปทางฐาน หุ้มลำต้นสองถึงสามของความกว้างลำต้น (ไม่มีกาบ) มีการเรียงเส้นใบไม่เด่นชัด มีสามเส้นใบตามยาวหรือมากกว่าในแต่ละด้านของเส้นกลางใบ เกิดจากที่ฐานหนึ่งในสามของเส้นกลางใบ วิ่งขนานกันไปเกินครึ่งหนึ่งของแผ่นใบโดยนับจากขอบใบ เส้นใบแบบขนนกเฉียงแบบร่างแหไม่สม่ำเสมอ มองเห็นได้ไม่ชัดเจน สายดิ่งยาวประมาณ 1.5 เท่าของแผ่นใบ อาจยาวถึง 12 ซม.[2] และหนา 0.5-1 มม. สายดิ่งอาจหรืออาจไม่ขดงอรอบวัตถุเพื่อพยุงต้น[1]
N. tenuis เป็นชนิดหนึ่งในสกุลที่มีหม้อขนาดเล็กมาก อาจเป็นรองเพียง N. argentii เท่านั้น หม้อบนรูปกรวย สูง 2.5-4.5 ซม.กว้าง 1.5-2.5 ซม. หม้อล่างและหม้อบนไม่มีปีกตะเข็บ มีเพียงสันยื่นออกมาหนึ่งคู่ด้านหน้า กว้าง 3-5 มม. มีต่อมปกคลุมผิวด้านในทั้งหมด[2] ต่อมมีขนาดเล็กและมีความหนาแน่น 600-800 ต่อมต่อตารางเซนติเมตร ปากรูปไข่ วางตัวในแนวนอน เพอริสโตมแบน กว้าง 6 มม. มีสันห่างกัน 1/8 มม. ฝารูปรีแคบ ไม่มีรยางค์ มีเส้นสองเส้นเห็นได้ชัด หนึ่งเส้นในแต่ละด้านของเส้นกลาง ยาว 1.5-2.5 ซม.กว้าง 0.5-0.8 ซม. มีต่อมกระจายอยู่ทั่วไปใต้ฝา มีเดือยเดี่ยวยาว 1 มม.ใกล้กับฐานฝา[1]
ส่วนมากไม่มีสิ่งปกคลุม แม้ว่าบางส่วนจะมีขนปกคลุมหร็อมแหร็ม หม้อมีสีเหลืองถึงเขียว อาจมีจุดสีแดง-น้ำตาล เพอริสโตมมีสีเหลือง-น้ำตาลเข้ม[1]